กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เตือนประชาชนเตรียมพร้อมรับมือหน้าร้อน เผยเคล็ดลับการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์แผนไทย แนะพก 3 ยาสมุนไพร ยาหอมเทพจิตร ยาดมสมุนไพร และ พิมเสนน้ำ รวมถึงวิธีคลายร้อนด้วย 6 น้ำสมุนไพร ช่วยบำรุงร่างกาย เช่น น้ำลอยดอกมะลิ น้ำใบเตย น้ำบัวบก น้ำย่านาง น้ำมะพร้าว และ น้ำตรีผลา ช่วยบรรเทาอาการและโรคยอดฮิต ช่วงฤดูร้อน
      นายแพทย์ขวัญชัย  วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูร้อนอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อน ปัญหาสุขภาพที่ตามมามักเกิดจากสภาพอากาศที่ร้อน ในทางการแพทย์แผนไทย อากาศที่ร้อนจะส่งผลกระทบต่อธาตุไฟ และธาตุน้ำในร่างกาย ทำให้ธาตุไฟกำเริบมักทำให้มีอาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม อาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะโรคลมแดด (Heatstroke) เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดโดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้ที่ต้องทำงานอยู่กลางแจ้ง จะได้รับผลกระทบโดยตรง 
       สำหรับ ยาสมุนไพรที่ควรพกประจำตัวไว้ในช่วงฤดูร้อน ได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ช่วยแก้อาการหน้ามืด ตาลาย อาการที่รู้สึกใจหวิว คลื่นไส้ วิงเวียน ตาพร่าจะเป็นลม ใจสั่น ส่วนใหญ่มีส่วนประกอบเป็นสมุนไพรรสหอมเย็น เช่น ดอกมะลิ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง สมุนไพรรสหอมเย็นมีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย แก้ร้อนใน   กระหายน้ำ เป็นต้น ยาดมสมุนไพร บรรเทาอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ช่วยให้สดชื่นตื่นตัว และ พิมเสนน้ำ มีส่วนประกอบหลัก ๆ คือ พิมเสน แก้ลมวิงเวียน หน้ามืด บำรุงหัวใจ การบูร แก้เคล็ด ขัดยอก เกล็ดสะระแหน่หรือเมนทอลมีกลิ่นหอมเย็น สำหรับพิมเสนน้ำเมื่อสัมผัสผิวจะรู้สึกเย็น จึงควรระมัดระวังการระคายเยื่อบุในระบบทางเดินหายใจและดวงตาหรือบริเวณผิวหนังอ่อน 
        นอกจากยาสมุนไพรที่ควรมีไว้ติดตัวในช่วงหน้าร้อนแล้ว ยังมีวิธีการคลายร้อนตามภูมิปัญญาไทย ซึ่งจะรับประทานในลักษณะเครื่องดื่มน้ำสมุนไพร โดยจะเน้นไปที่สมุนไพรที่มีรสเย็น เช่น น้ำลอยดอกมะลิ จะช่วยทำให้สดชื่น แก้กระหาย แก้อ่อนเพลีย ช่วยคลายเครียด ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยคลายร้อน และ ช่วยบำรุงหัวใจ น้ำใบเตย ช่วยบำรุงหัวใจ ช่วยลดอาการกระหายน้ำ  น้ำบัวบก  แก้ร้อนในกระหายน้ำ บำรุงสมอง บำรุงหัวใจ น้ำย่านาง แก้ไข้  ลดความร้อนในร่างกาย น้ำมะพร้าว ช่วยดับกระหาย คลายร้อน ช่วยให้สดชื่น และ น้ำตรีผลา ปรับสมดุลของร่างกายในช่วงฤดูร้อน เป็นต้น 
         นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า ในช่วงฤดูร้อนนี้ สิ่งที่สำคัญควรปฏิบัติตน คือ หลีกเลี่ยงการออกแดดเป็นเวลานานๆ สวมเสื้อผ้าที่โปร่งเบาสบาย สีอ่อนๆ พยายามดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อชดเชยการเสียน้ำในร่างกาย นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทย หรือ การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM
          ......................................................................8 มีนาคม 2567.....................................................................


 



   


View 218    08/03/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ