เดชอิศม์ ปลื้ม ไทยได้รับ ‘เมืองสุขภาพดี’ สี่แห่งจากองค์การอนามัยโลก มอบกรมอนามัยพัฒนารูปแบบต่อเนื่องเพื่อขยายผล หวังสร้างสุขภาพดีทั่วเมืองไทยเป็นของขวัญปีใหม่
- กรมอนามัย
- 623 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ เร่งทำการสำรวจ ประเมิน และเฝ้าระวังความเสี่ยงในสถานที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคระบาดประชาชน หลังได้รับแจ้งเหตุนักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง เข้ารับการรักษาด้วยอาการอุจจาระร่วงจำนวนมาก
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า จากกรณีเกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในโรงเรียนที่จังหวัดตรังที่ผ่านมา พบว่า นักเรียนจำนวนมากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียรุนแรง จนต้องรีบส่งโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาอย่างเร่งด่วน สาเหตุเบื้องต้นเกิดจากนักเรียนกินอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่มาจากอุจจาระ โดยการลงพื้นที่สอบสวนพบเชื้อในน้ำแข็งและอาหารกลางวัน ที่ปรุงสำเร็จส่งมาจากร้านอาหารภายนอกโรงเรียน เกิดจากผู้ผลิตอาหารไม่มีการควบคุมคุณภาพของอาหารให้สะอาด ถูกสุขลักษณะตามมาตรฐาน อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงประชาชนได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากการบริโภคอาหาร กรมอนามัย จึงส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่
เร่งทำการสำรวจ ประเมินและเฝ้าระวังความเสี่ยงในสถานที่เสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในโรงเรียน และชุมชน โดยตรวจสอบและประเมินสุขลักษณะร้านอาหารในโรงเรียน และร้านอาหารแผงลอยบริเวณโดยรอบโรงเรียน รวมถึงร้านอาหารกลางวันที่ทำอาหารปรุงสำเร็จส่งมาให้นักเรียนรับประทาน ดำเนินการเก็บตัวอย่าง อาหารและน้ำเพื่อตรวจวิเคราะห์ผลอีกครั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างรอผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า จากการสำรวจพื้นที่สถานที่ปรุงประกอบอาหารเบื้องต้น พบว่า สถานที่ปรุงประกอบอาหาร มีบางพื้นที่ไม่สะอาด และวางวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่เป็นระเบียบ และแม่ครัวไม่ได้ผ่านการอบรมผู้สัมผัสอาหาร และทำการเก็บตัวอย่างน้ำ ตรวจคลอรีนอิสระในน้ำ ณ บริเวณอ่างล้างหน้าแปรงฟัน และโรงครัว พบว่ามีค่าคลอรีนอิสระคงเหลือในน้ำเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่กำหนดและปลอดภัย ทั้งนี้ ในส่วนของน้ำดื่ม ได้มีการประสานให้การประปาเข้าร่วมดูแล เฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มของโรงเรียน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรค และได้ตรวจสอบ ประเมินสุขลักษณะความสะอาดของห้องน้ำ ห้องส้วมภายในบริเวณโรงเรียน เนื่องจากโรคอุจารระร่วงดังกล่าว เกิดจากการปนเปื้อนเชื้อโนโรไวรัสและเชื้อแบคทีเรียที่มาจากอุจจาระ พบว่า ห้องน้ำ ห้องส้วมถูกสุขลักษณะ แต่ยังไม่มีสบู่ล้างมือที่เพียงพอทุกจุด บริเวณอ่างล้างมือของโรงเรียน และทีม SEhRT ได้ลงพื้นที่เฝ้าระวังการปนเปื้อนของเชื้อโรคในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน โรงน้ำแข็งในชุมชนที่เป็นสาเหตุ ในการเกิดโรคอุจจาระร่วง พร้อมทั้งประสานให้หน่วยงานท้องถิ่นที่ควบคุม กำกับ การให้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงน้ำแข็งให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน
ในการบริโภคน้ำแข็งที่สะอาดปลอดภัยได้มาตรฐาน
“ทั้งนี้ กรมอนามัย ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานในพื้นที่ช่วยกันกำหนดมาตรการควบคุม กำกับ ให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารถือปฏิบัติให้ได้มาตรฐาน ตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทำให้ผู้ประกอบการตระหนัก เห็นความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของการดูแล ป้องกันด้านสุขภาพประชาชน รวมทั้งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในการเลือกกินอาหารที่มีคุณภาพ ความสะอาด และมีบริการที่ดี หรือเลือกซื้ออาหารจากร้านอาหารที่ได้มาตรฐานที่กรมอนามัยกำหนด หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่มีสี กลิ่น หรือรสชาติ ผิดปกติหรือสงสัยว่าผลิตไม่ได้มาตรฐาน เพื่อสุขอนามัยที่ดี” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 6 กุมภาพันธ์ 2567