กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข มอบหมายทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ร่วมกับ สสจ. เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอฝาง และหน่วยงานส่วนท้องถิ่น สำรวจจากเหตุไฟไหม้บ่อขยะ ถึงการปนเปื้อนน้ำชะกากขยะในแหล่งน้ำสาธารณะ ฝุ่นละออง เถ้า เขม่าควัน และประเมินสภาพแวดล้อมที่อาจส่งผลกับประชาชนโดยรอบ พร้อมให้คำแนะนำเพื่อป้องกันลดผลกระทบต่อสุขภาพ

             นายแพทย์อรรถพล  แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้บ่อขยะภายในศูนย์การจัดการมูลฝอยตามหลักสุขาภิบาล ตำบลเวียงฝาง อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้เกิดควันไฟ เขม่า เถ้า และฝุ่นละอองในปริมาณมากปนเปื้อนในอากาศและฟุ้งกระจายไปยังชุมชนอยู่ใกล้เคียง เสี่ยงผลกระทบทางสุขภาพหากหายใจรับควันไฟเข้าสู่ร่างกายเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาระบบทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ หอบหืด และเด็กเล็ก อย่างไรก็ตามสถานการณ์ดังกล่าวมีความเสี่ยงปัญหาทางสุขภาพประชาชน หากได้รับสัมผัสควันและฝุ่นละออง กรมอนามัยจึงส่งทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ ลงพื้นที่ร่วมกับ สสจ. เชียงใหม่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอฝางและหน่วยงานส่วนท้องถิ่น สนับสนุนการสำรวจ และประเมินความเสี่ยงการปนเปื้อนน้ำชะกากขยะในแหล่งน้ำสาธารณะ การปนเปื้อนฝุ่นละออง เถ้า เขม่าควันลงอาหารและประเมินสภาพแวดล้อมเสี่ยงที่อาจส่งผลกับประชาชนโดยรอบ เบื้องต้น พบว่า ศูนย์การจัดการมูลฝอยดังกล่าวเป็นบ่อขยะเก่าจัดตั้งโดยการทำ MOU ร่วมกันระหว่างอำเภอไชยปราการ อำเภอฝาง และอำเภอแม่อายโดยมีเทศบาลอำเภอฝางเป็นผู้ดูแล และไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข ผลการสำรวจความเสี่ยงการปนเปื้อนสารพิษจากบ่อขยะ พบว่า โดยรอบพื้นที่บ่อขยะไม่มีแหล่งน้ำสาธารณะ และน้ำชะกากขยะจากการดับเพลิงจะไหลไปยังระบบบำบัดน้ำเสียของศูนย์การจัดการมูลฝอยฯจึงไม่พบการปนเปื้อนน้ำชะกากขยะในแหล่งน้ำที่ประชาชนใช้อุปโภค ทั้งนี้ ทีม SEhRT ได้ให้คำแนะนำการเฝ้าระวังการปนเปื้อนทางสิ่งแวดล้อม รวมถึงประสานหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งสนับสนุนหน้ากาก N95 ให้กับเทศบาลตำบลเวียง เพื่อสนับสนุนให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบดังกล่าว

             “กรมอนามัย ขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ใช้อำนาจบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามคำแนะนำหรือมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมเร่งหามาตรการป้องกันความเสี่ยงการเกิดไฟไหม้บ่อขยะที่อาจเกิดขึ้นซ้ำได้อีก ได้แก่ การป้องกัน ปิดกั้น ปกคลุมไม่ให้มีบุคคลอื่นเข้าไปยังพื้นที่และอาจก่อประกายไฟ จนเป็นสาเหตุของการเกิดให้เกิดไฟไหม้ส่งผลกระทบต่อประชาชน ชุมชนใกล้เคียง และต้องมีระบบแจ้งเตือนภัยประชาชนจากภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในบ่อขยะได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเร่งออกจากพื้นที่หากได้รับผลกระทบทางสุขภาพได้ทันที” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว


***

กรมอนามัย / 3 กุมภาพันธ์ 2567



   
   


View 187    03/02/2567   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ