วันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม 2567 เวลา 09.39 น. ที่ห้องประชุมธารารวมใจ ตึกอำนวยการ ชั้น 5 โรงพยาบาลนครพนม นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม เป็นประธานเปิดการประชุมชี้แจงโครงการวิจัยและเตรียมลงพื้นที่ การสำรวจความชุกของภูมิตอบสนองต่อไวรัสโคโรนา 2019 ในเด็กและวัยรุ่นในจังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องของกระทรวงสาธารณสุข เป็นปีที่ 3 โดย 2 ปีแรกได้ทำการติดตามการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อเชื้อก่อโรคไวรัสโคโรนา 2019 ในกลุ่มวัยรุ่น ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ในอาสาสมัคร 4 จังหวัด ซึ่ง 3 จังหวัด เป็นจังหวัดที่มีการติดเชื้อโรคสูง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เซียงใหม่ ส่วนจังหวัดนครพนม ถือว่าเป็นจังหวัดเปรียบเทียบ เพราะมีรายงานติดเชื้อต่ำ 

        นายแพทย์ปรีดา วรหาร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นการดำเนินโครงการโดยโรงพยาบาลนครพนม ร่วมกับกองระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความชุกของการพบภูมิตอบสนองต่อเชื้อช่วงก่อนที่จะมีวัคซีน และเพื่อติดตามว่าหลังจากที่มีการฉีดวัคนป้องกันโควิด-19 ไปแล้ว หรือหลังที่มีการติดเชื้อโรคนี้แล้ว ร่างกายมีการตอบสนองของภูมิคุ้มกันเป็นอย่างไร นอกจากนั้นยังเฝ้าติดตามอีกด้วยว่าประสิทธิผลของวัคนสามารถป้องกันโรคได้มากน้อยเพียงใด ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในสองปีแรกเป็นประโยชน์กับประเทศไทย ช่วยในการตัดสินใจการให้วัคนเข็มกระตุ้นในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่างๆ 

        “การดำเนินการในปีนี้เป็นการดำเนินงานต่อยอดจากโครงการเดิม ทำการสำรวจและติดตามระดับการตอบสนองของภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเด็กเล็กเพิ่ม เพราะเป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่งเริ่มมีการให้วัคซีนเมื่อไม่าน ทั้งนี้ โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจหาความชุกของการมีภูมิตอบสนองต่อเชื้อ  SARS-CoV-2 ณ ตอนเริ่มศึกษา ครบ 6 เดือน และครบ 1 ปี ในจังหวัดนครพนม โดยได้รับการสนับสนุนจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (U.S.CDC) ซึ่งเตรียมลงพื้นที่เพื่อดำเนินการเชิญอาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัย ระหว่างวันที่ 5-14 มกราคม 2567 และข้อมูลที่ได้จะนำไปใช้ในการพิจารณาการให้วัคซีนของประเทศไทยต่อไป โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เลือกจังหวัดนครพนมเพียงจังหวัดเดียวในการศึกษา และเป็นโครงการวิจัยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการศึกษาวิจัยในคน กระทรวงสาธารณสุขแล้ว เมื่อ 20 ธันวาคม 2566 ซึ่งจะดำเนินการในพื้นที่เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครพนม กลุ่มประชากรเป็นเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน จนถึงน้อยกว่า 18 ปี จำนวนทั้งหมด 999 ราย หลังจากเชิญเข้าร่วมโครงการแล้วจะทำการเจาะเลือด และติดตามอาการป่วยคล้ายโควิดทุกสัปดาห์เป็นระยะเวลา 1 ปี”

       ผู้เข้าร่วมประชุมฯ ประกอบด้วย นักวิจัย ได้แก่ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครพนม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครพนม ทีมงานวิจัย นำโดย ดร.นายแพทย์สุทธิชัย นักผูก นักวิจัยหลัก โรงพยาบาลนครพนม และผู้ที่ดูแลพื้นที่หลักในเขตอำเภอเมืองนครพนม ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งสริมสุขภาพตำบล จำนวน 60 ท่าน ทั้งนี้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารของกรมควบคุมโรค กองระบาดวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐ ด้านสาธารณสุข เพื่อให้นักวิจัย เจ้าหน้าที่โครงการ ตลอดทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด

        อนึ่ง เป็นจังหวัดที่สำคัญในด้านการวิจัย เพื่อนำผลไปใช้เชิงนโยบาย ได้รับความไว้วางใจจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ดำเนินการวิจัยหลายเรื่อง ทั้งการเฝ้าระวังโรค และโดยเฉพาะเรื่องการทดสอบคุณภาพของวัคซีน ที่ผ่านมาจังหวัดนครพนมได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม กระทรวงสาธารณสุข มีผลในการป้องกันโรคได้ และที่ผ่านมาเมื่อเดือนกันยายน 2566 ก็ได้พิสูจน์ว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม ใช้ได้และได้รับการขึ้นทะเบียนโดยองค์การอาหารและยาแล้ว ซึ่งการวิจัยดังกล่าวก็เป็นผลงานของคณะวิจัยชุดนี้


Facebook: งานประชาสัมพันธ์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครพนม
https://www.facebook.com/share/p/diUpDDFGjaXEprCm/?mibextid=qi2Omg

Facebook: R8WAY_Communication
https://www.facebook.com/groups/476679682438212/permalink/6603334256439360/?sfnsn=mo&ref=share&mibextid=KtfwRi

Facebook: โอเค-นครฯ
https://www.facebook.com/share/p/ApdZS4Sichz2Wgd6/?mibextid=qi2Omg

Facebook: นครพนมทูเดย์
https://www.facebook.com/groups/759011267571598/permalink/2723731227766249/?sfnsn=mo&ref=share&mibextid=KtfwRi

 



   
   


View 349    04/01/2567   ข่าวรอบรั้วภูมิภาค    สำนักสารนิเทศ