อย. ชวนส่งความสุขเพื่อสุขภาพ ลดโรค NCDs เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพเป็นของขวัญปีใหม่
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 56 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เร่งพัฒนาศักยภาพครูแกนนำงานอนามัยโรงเรียน สร้างเสริมสุขภาพเด็กในถิ่นทุรกันดารให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เผยสถานการณ์ด้านสุขภาพยังพบอัตราการเสียชีวิตของทารกแรกเกิด ทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อย เด็กวัยเรียนขาดสารอาหาร มีภาวะเตี้ยกว่าเกณฑ์มาตรฐาน พร้อมทั้งเร่งปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้น
วันนี้ (13 ธันวาคม 2566) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูแกนนำงานอนามัยโรงเรียน ในถิ่นทุรกันดาร ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ สไตล์ลิช คอนเวนชั่น จังหวัดนนทบุรี ว่า จากรายงานสถานการณ์ด้านสุขภาพเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560 - 2569) ประจำปีการศึกษา 2565 ในด้านการเสริมสร้างสุขภาพของเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา พบว่า กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ บางชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ยังคงมีอัตราตายของทารกต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน อยู่ในระดับที่สูงและทารกแรกเกิดมีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ส่วนกลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 3 ปี มีภาวะน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์สูงถึงร้อยละ 8.69 นอกจากนี้ ในบางพื้นที่มีภาวะเตี้ยเกินค่าเป้าหมาย (ร้อยละ 7) ส่วนกลุ่มนักเรียนระดับชั้นอนุบาล ประถมศึกษาและมัธยมศึกษา พบปัญหาด้านทุพโภชนาการ ทั้งภาวะขาด และภาวะเกิน ส่วนการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม ยังคงพบปัญหาในด้านคุณภาพน้ำบริโภค สุขาภิบาลอาหาร ส้วม และขยะทั้งในโรงเรียนและชุมชน สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง หากขาดการแก้ไขและช่วยเหลืออย่างจริงจังอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่มวัยในระยะยาว ทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพและโรคต่าง ๆ ได้
“กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหน่วยงานหลักขับเคลื่อนงานโครงการพระราชดำริ ภายใต้โครงการส่งเสริมโภชนาการ และสุขภาพอนามัยเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (กพด.) จึงได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพครูแกนนำงานอนามัยโรงเรียนในถิ่นทุรกันดาร เพื่อพัฒนาความรู้ สามารถของครูอนามัยโรงเรียนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่เป้าหมายซึ่งนับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้เข้าถึงบริการส่งเสริมสุขภาพ ทั้งด้านโภชนาการ สุขภาพอนามัย และด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมได้อย่างต่อเนื่องและครอบคลุม” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 13 ธันวาคม 2566