ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 173 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงินบุคลากรสาธารณสุขทั่วประเทศ หลังหารือร่วมสถาบันการเงินจัดทำ 2 โครงการลดดอกเบี้ย ทั้งหนี้สินเชื่อและหนี้บ้าน ช่วยมีเงินเหลือเก็บเพิ่มเฉลี่ย 5,751 บาท/เดือน ประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงฯ 6 พันล้านบาท พร้อมทำ “คลินิกสุขภาพการเงิน” ช่วยเพิ่มวินัยทางการเงิน ให้บุคลากรมีความมั่นคงในชีวิต เป็น Quick Win นโยบายสร้างขวัญกำลังใจ
วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานมอบนโยบาย “แก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข” ในการประชุมชี้แจงแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ผ่านการประชุมทางไกลและ Facebook Live โดยมี พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัด กระทรวงสาธารณสุข นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รองผู้อำนวยการธนาคารออมสิน และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วม โดย นพ.ชลน่านกล่าวว่า วันที่ 27 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันสถาปนากระทรวงสาธารณสุข ครบ 81 ปี ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมดกว่า 5 แสนคน แม้ต่างสังกัด ต่างหน้าที่ แต่ก็ร่วมกันรับผิดชอบชีวิตและสุขภาพของประชาชนไทย ผ่านอุปสรรคและวิกฤตกันมาหลายครั้ง ดังนั้น การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข ให้มีความมั่นคง มีสวัสดิภาพและสวัสดิการต่างๆ อย่างเหมาะสมทุกวิชาชีพ จึงเป็นหนึ่งในนโยบายหลักและนโยบายที่ต้องเร่งรัดดำเนินการ (Quick Win)
“ผมพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ทุกปัญหาอุปสรรค และมีความจริงใจที่จะเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาให้กับบุคลากร อย่างเรื่องเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยโควิด 19 ที่รองบประมาณเพิ่มเติมจาก ครม. ก็ได้ติดตามมาตลอด, เรื่องตำแหน่งงาน มีการช่วยเหลือบรรจุให้เสมอภาคทางสายอาชีพ ความก้าวหน้าทางสายงาน เช่น การกำหนดตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพระดับชำนาญการพิเศษ การบรรจุผู้ได้รับจ้างงานอื่นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพเข้ารับราชการ รวมทั้งการแยกตัวออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา แต่กำลังเร่งดำเนินการ เพื่อให้อนาคตมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการกรอบอัตรากำลัง การทำผลงานวิชาการ ส่วนเรื่องภาระงานล้น บุคลากรน้อย การนำเทคโนโลยีเข้ามาเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน จะช่วยลดภาระงานได้ส่วนหนึ่ง” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องกรอบอัตราเงินเดือนที่อยู่ระหว่างรัฐบาลประกาศปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐนั้น เบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขจะช่วยเหลือในส่วนของบุคลากรที่เดือดร้อนเป็นหนี้ โดยมอบหมายให้ พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดูแลความเป็นอยู่และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งจากการตั้งคณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและธนาคารออมสินทำให้ได้ทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากร เพื่อช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในกลุ่มที่มีหนี้สิน ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข เพิ่มการสร้างวินัยทางการเงิน โดยจัดให้มี “คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน” และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) 2 โครงการ คือ 1.โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการใน 4 กลุ่ม คือ รีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม จากข้อมูลพบว่าบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 15% เป็นหนี้บ้านประมาณ 2.5 ล้านบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 4.6% เฉลี่ย 9,583 บาทต่อเดือน ซึ่งดอกเบี้ยโครงการนี้อยู่ที่ 2.6% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคน 4,167 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3 พันล้านบาทต่อปี และ 2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น, สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ, สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด และสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข 40% เป็นหนี้เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อคน ดอกเบี้ยประมาณ 16% เฉลี่ย 2,666 บาทต่อเดือน โดยดอกเบี้ยโครงการอยู่ที่ 6.459% จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมของกระทรวงสาธารณสุข 3,042 ล้านบาทต่อปี โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดค่าใช้จ่ายภาพรวมกระทรวงสาธารณสุขได้กว่า 6,042 ล้านบาทต่อปี
พญ.นวลสกุลกล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญในการสร้างความมั่นคงของระบบสุขภาพ พร้อมไปกับการดูแลบุคลากรทุกคน ทุกระดับ และทราบถึงปัญหาภาระหนี้สินที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน จึงได้ตั้งคณะทำงานเจรจาหารือกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา รวมกว่า 2 เดือน เพื่อให้ได้ข้อเสนอสวัสดิการทางการเงินที่ดีที่สุด ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย สร้างสภาพคล่องทางการเงิน เสริมกำลังใจ สร้างความมั่นคงให้ชาวกระทรวงสาธารณสุข เพื่อตอบแทนบุคลากรทุกคนที่ได้ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทเสียสละ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศจนมีผลงานที่ดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา
ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า การเสริมสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ทั้งสวัสดิการ ความเป็นอยู่ และการแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน จะช่วยให้บุคลากรมีความสบายใจ รู้สึกมั่นคงและมีความสุขในการปฏิบัติหน้าที่ ส่งผลให้ปฏิบัติงานดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถขับเคลื่อนกระทรวงสาธารณสุขไปสู่เป้าหมาย “องค์กรแห่งความสุข” ได้อย่างแท้จริง
***************************************** 27 พฤศจิกายน 2566