ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จากสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพ โครงการพัฒนาเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ประจำปีงบประมาณ 2567 โดยได้รับเกียรติจากนายชนก มากพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยนายแพทย์วิชาญ คิดเห็น นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ ร่วมเปิดงาน ณ หอวัฒนธรรมนครบาลเพชรบูรณ์ อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์
 


      นางสาวอมรรัตน์ ทัศนกิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก กล่าวว่า จากสถานการณ์ การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยของคนไทย เกิดผลกระทบทางสุขภาพ สร้างความเสียหายเป็นมูลค่ามหาศาล โดยในปัจจุบันมีสินค้าจำนวนมาก จำหน่ายตามร้านค้าออนไลน์ ร้านชำ ขายตรง ร้านสะดวกซื้อ ในชุมชน กระทรวงสาธารณสุข จึงมีนโยบายสนับสนุนให้ประชาชน เข้าถึงการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ปลอดภัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 2 พิษณุโลก มีการพัฒนาศักยภาพ อสม. เป็น อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ อสม. นักวิทย์ฯ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนกระทั่งในปี 2566 อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ได้ถูกบรรจุเป็นสาขาที่ 13 และมี อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชนระดับชาติ ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 2 ซึ่งประกอบไปด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ และตาก เพิ่มการสร้างศักยภาพ อสม. หมอประจำบ้าน เป็น อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน จำนวนรวมทั้งสิ้น 2,2890 คน ที่มีศักยภาพในการใช้ชุดตรวจ คัดกรองความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์สุขภาพ แจ้งเตือน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนการคัดกรองและป้องกันโรค อย่างไรก็ตามการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์เพื่อสร้างศักยภาพ อสม. หมอประจำบ้าน เป็น อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง อสม. ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นวิทยากรกระบวนการ พัฒนา อสม. วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน หรือ “ครู ก” มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการสร้างเครือข่ายวิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แจ้งเตือนภัยผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัยในชุมชน ตลอดจนการคัดกรองป้องกันโรค และสนับสนุนให้มีศูนย์แจ้งเตือนภัยสุขภาพชุมชนที่ครอบคลุม ระดับ อำเภอ จังหวัด เพื่อการแจ้งเตือนภัย และคัดกรองป้องกันโรค ที่เข้มแข็ง ให้สามารถรู้ เข้าใจ นำเอาความรู้ ไปถ่ายทอดแนะนำ แก่ผู้เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่ ร่วมกับภาคส่วนอื่น ในการควบคุมป้องกันโรคและแจ้งเตือนภัยสุขภาพ ภายใต้สถานการณ์ การถ่ายโอนภารกิจของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด

 




           นางสาวอมรรัตน์ กล่าวต่ออีกว่า การจัดอบรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ อสม. มีความรู้และมีทักษะเกี่ยวกับการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น สำหรับตรวจผลิตภัณฑ์ อาหาร ยา เครื่องสำอาง และตรวจคัดกรองสารเสพติด โดยในปีงบประมาณนี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับการอบรมให้ความรู้ในการเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตามนโยบายของกรมวิทยาศาสตร์ ที่ต้องการให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงการรักษาและลดความเสี่ยง ตลอดจนลดการเสียชีวิต จากโรคมะเร็งปากมดลูก เข้าสู่ “HPV ZERO” ของประเทศ โดยแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงจากสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในแต่ละอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย อสม. จากสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษา นวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ในแต่ละอำเภอของจังหวัดเพชรบูรณ์
 




     การอบรมประกอบด้วยการบรรยายให้ความรู้ ความเข้าใจ ในลักษณะ วิธีการใช้ การแปลผล ชุดตรวจหาสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านยา สมุนไพร อาหาร และเครื่องสำอาง และชุดเก็บตัวอย่างส่งตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเองให้แก่ อสม. โดยมีเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง ที่เข้าร่วมการอบรม การฝึกปฏิบัติ ของ อสม. และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยง ให้ทดลองถ่ายทอดความรู้และเป็นพี่เลี้ยงการใช้ชุดทดสอบเบื้องต้น หรือชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง จากนั้นจะมีการประเมินองค์ความรู้และทักษะ อสม. และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงเพื่อรับรองการผ่านการอบรม และทำความเข้าใจ แนวทางการทำงาน ให้ อสม. และเจ้าหน้าที่พี่เลี้ยงที่ผ่านการประเมินรับรองแล้ว ไปปฏิบัติงานในชุมชนและพื้นที่รับผิดชอบได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ศูนย์ฯ จะร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินการอบรมให้ความรู้จนครบทั้ง 11 อำเภอ ของจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมผู้อบรมทั้งหมด 660 คน



   
   


View 464    23/11/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ