ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 117 View
- อ่านต่อ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เตือนค่าฝุ่น PM 2.5 กลับมาสูงขึ้น พบเกินค่ามาตรฐานในระดับสีส้ม หรือเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ 12 จังหวัด สถานการณ์อาจยาวไปถึงปลายเมษายน 2567 ย้ำประชาชนตรวจสอบคุณภาพอากาศก่อนออกจากบ้าน หากค่าฝุ่นอยู่ระดับสีส้ม-แดง ควรลดกิจกรรมนอกบ้าน สวมหน้ากากป้องกันส่วนโรงเรียนควรมีมาตรการแจ้งเตือน จัดทำห้องปลอดฝุ่น
วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2566) นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เริ่มกลับมาเพิ่มขึ้น หลายพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการติดตามคุณภาพอากาศเพื่อบริหารจัดการฝุ่น PM 2.5 โดยกองสาธารณสุขฉุกเฉิน เมื่อเวลา 07.00 น.วันนี้ พบพื้นที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง เกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร (เกินมาตรฐานมากกว่า 3 วัน) นนทบุรี กทม. นครปฐม สมุทรปราการ สุโขทัย พิษณุโลก อุทัยธานี (เกินมาตรฐาน 3 วัน) พิจิตร (เกินมาตรฐาน 2 วัน) อ่างทอง สุรินทร์ และนครสวรรค์ (เกินมาตรฐาน 1 วัน) ยังไม่มีรายงานพื้นที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมงในระดับสีแดง หรือมีผลกระทบต่อสุขภาพ (เกิน 75 มคก./ลบ.ม.) ทั้งนี้ ประเทศไทยได้มีการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั้วโมง ระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ จาก 50 มคก./ลบ.ม. เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพได้รวดเร็วขึ้น
“ผลกระทบทางสุขภาพของฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐาน มีทั้งระยะสั้น เช่น แสบตา คันตา น้ำตาไหล คัดจมูก มีน้ำมูก แสบจมูก แสบคอ ไอแห้งๆ คันตามร่างกาย รวมถึงอาจมีอาการในระดับรุนแรงถึงขั้นแน่นหน้าอก หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด เหนื่อยง่าย ส่วนระยะยาว จะส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจ หยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย, ระบบทางเดินหายใจ, มะเร็งปอด รวมถึงในหญิงตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด และกระทบต่อพัฒนาการของระบบสมองทารก โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ เยื่อบุตาอักเสบ หัวใจและหลอด จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสเร็วกว่าประชาชนทั่วไป และ และอาจมีอาการของโรคกำเริบได้” นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ในปี 2567 จะมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เอลนีโญที่มีกำลังแรงตั้งแต่ปลายฤดูฝนปี 2566 ถึงฤดูร้อนปี 2567 ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยมีแนวโน้มสูงกว่าค่าปกติ อากาศร้อนและแล้งมากขึ้น ปริมาณฝนรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะต่ำกว่าค่าปกติ ร้อยละ 10 ซึ่งจะส่งผลให้สถานการณ์ไฟป่าในปี 2567 มีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งในประเทศและหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะเริ่มพบสถานการณ์ตั้งแต่ปลายปี 2566 ในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ภาคกลางภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ จากนั้นช่วงมกราคม-ปลายเมษายน 2567 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือจะมีแนวโน้มสถานการณ์ฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการเผา ไฟไหม้ป่า และหมอกควันข้ามแดนซึ่งเมื่อต้นปี 2566 พบค่า PM 2.5 สูงสุดถึง 537 มคก./ลบ.ม. ที่ จ.เชียงราย สูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 14 เท่า
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนตรวจสอบสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ได้ที่ Air4Thai หรือ App Life Dee และปฏิบัติตนตามระดับสีค่าฝุ่นสูง ดังนี้ สีเหลือง ระดับปานกลาง (25.1 – 37.5 มคก./ลบ.ม.) เลี่ยงการทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก สังเกตอาการตนเอง สีส้ม (37.6 – 75 มคก./ลบ.ม.) และสีแดง (75.1 มคก./ลบ.ม.ขึ้นไป) ประชาชนทั่วไปลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยง ลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และหากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม นอกจากนี้ ควรทำความสะอาดบ้านเรือนเป็นประจำ สถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานดูแลผู้สูงอายุ ควรมีมาตรการในการดูแลสุขภาพ เช่น แจ้งเตือน ลดหรืองดกิจกรรมกลางแจ้ง เฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ จัดทำห้องปลอดฝุ่นในเป็นที่พักในช่วงค่าฝุ่นสูง ที่สำคัญ สถานศึกษาควรให้ความรู้ แก่นักเรียน เพื่อให้สามารถป้องกันตนเองและบอกต่อในครอบครัวและชุมชนได้
************************** 22 พฤศจิกายน 2566