กรมการแพทย์ โดยสถาบันโรคผิวหนัง เร่งสนับสนุนเวชภัณฑ์ยารักษาโรคผิวหนัง เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในภาคใต้
- กรมการแพทย์
- 10 View
- อ่านต่อ
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยเคล็ดลับการดูแลผู้ป่วยเบาหวานด้วยศาสตร์แผนไทย เนื่องในวันเบาหวานโลก (World Diabetes Day) ชู 5 สมุนไพรผักพื้นบ้าน ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ มะระขี้นก ตำลึง เตยหอม ผักเชียงดา และ ช้าพลู พร้อมแนะนำ ยามธุระเมหะ ตำรับยาไทย ที่ช่วยลดน้ำตาลในเลือด รักษาผู้ป่วยเบาหวาน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ทุกวันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปีเป็นวันเบาหวานโลก(World Diabetes Day) สำหรับคำขวัญวันเบาหวานโลกปี 2566 ประจำปีนี้ คือ “DIABETES: KNOW YOUR RISK, KNOW YOUR RESPONSE เบาหวาน รู้ว่าเสี่ยง รู้แล้วต้องเปลี่ยน” โรคเบาหวาน เกิดจากความบกพร่องของตับอ่อน และฮอร์โมนอินซูลินในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง อาการสำคัญที่สังเกตได้ด้วยตนเอง คือ ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน หิวบ่อย มีอาการชาปลายมือ ปลายเท้า บาดแผลหายช้า หากเกิดภาวะแทรกซ้อน อาจส่งผลให้จอประสาทตาเสื่อม เกิดแผลกดทับติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะติดเชื้อราและเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของความพิการตามมา
หลักการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานและการป้องกันการเกิดโรคเบาหวาน ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย จะเน้นการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม เพื่อปรับให้ร่างกายเกิดสมดุล โดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ลดปริมาณแป้ง และ น้ำตาล เน้นการรับประทานผักพื้นบ้านที่มีสรรพคุณช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ได้แก่ 1.มะระขี้นก เป็นสมุนไพรรสขม มีสรรพคุณ แก้ไข้ ช่วยเจริญอาหาร และมีสารสำคัญที่ชื่อ charantin ที่มีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ ถึงแม้จะมีรสขม แต่สามารถนำมาประกอบเมนูได้หลากหลายและช่วยลดความขมลงได้ เช่น แกงคั่วมะระขี้นก มะระขี้นกผัดไข่ มะระขี้นกลวกจิ้มน้ำพริก หรือนำมาทำเป็นเครื่องดื่มสมูทตี้ผักรวม ดื่มแก้ดับกระหายและสดชื่น 2.ตำลึง เป็นสมุนไพรรสเย็น ใบและเถา ของตำลึงมีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด และ ยังมีคุณค่าทางด้านอาหารสูงนำมาประกอบอาหารได้หลากหลายเมนู ทั้งแกงจืด แกงเลียง และ ต้มเลือดหมู 3.เตยหอม มีรสหวานหอมเย็น ต้นและรากใช้ขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้พิษร้อน แก้ร้อนใน กระหายน้ำ และ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากจะใช้แต่งกลิ่น แต่งสีในเมนูขนมแล้ว ยังสามารถนำมาทำเป็นน้ำเตยหอม ดื่มแก้กระหายน้ำ ทำให้สดชื่น อีกด้วย 4.ผักเชียงดา เป็นผักพื้นบ้านของทางภาคเหนือ นำมาปรุงอาหาร ทำเป็นชาชง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และ 5.ช้าพลู มีรสเผ็ดร้อน ใช้ขับลมในลำไส้ ช่วยเจริญอาหาร และ ลดระดับน้ำตาลในเลือด การนำช้าพลูมารับประทานสามารถรับประทานได้ทั้งสุกหรือใบดิบ แต่ไม่ควรรับประทานใบสดมากเกินไป เพราะอาจเกิดอาการเวียนศีรษะ และ อาจทำให้ เกิดนิ่วในไตหรือทางเดินปัสสาวะได้ นอกจากการรับประทานสมุนไพรผักพื้นบ้าน ที่มีสรรพคุณ ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดแล้ว ยังมีตำรับยาสมุนไพรที่มีสรรพคุณลดน้ำตาลในเลือดได้ดี คือ ตำรับยามธุระเมหะ สรรพคุณ ลดน้ำตาลในเลือด การใช้ยาสมุนไพรรักษาผู้ป่วยเบาหวาน จะต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ ในสถานพยาบาล
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากสมุนไพรผักพื้นบ้านและยาสมุนไพรที่มีฤทธิ์ช่วยลดน้ำตาลในเลือด ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว หลักสำคัญที่จะช่วยให้ร่างกายเกิดความสมดุล ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง และ ช่วยให้แข็งแรง คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และ เหมาะสมกับร่างกาย เช่น กายบริหารท่าฤๅษีดัดตน การว่ายน้ำ รำมวยไทเก๊ก เดินเบาๆ และที่สำคัญควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมุนไพรที่มีฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด หรือ มีความประสงค์ที่จะรักษาโรคเบาหวานด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย สามารถสอบถามข้อมูลกับแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาล ของรัฐทั่วประเทศได้ หรือสามารถสอบถามโดยตรงได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/dtam.moph และ ไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก line@DTAM
.......................................................14 พฤศจิกายน 2566.....................................................