องค์การอนามัยโลก เลือกไทยและบราซิล เป็นประเทศต้นแบบสำรวจการปฏิบัติตามกฎหมายบุหรี่โลก ผลการสำรวจกว่า 80 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน แนะไทยเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย การห้ามโฆษณาและส่งเสริมการขายยาสูบข้ามพรมแดนทางอ้อมผ่านทางอินเตอร์เน็ต และจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเองเพื่อลดอัตราการบริโภค ซึ่งไทยจะนำผลสำรวจเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติในต้นปีหน้า ชี้ ในรอบ 9 เดือนปีนี้ กระทรวงสาธารณสุข รับแจ้งเรื่องร้องเรียนบุหรี่ถึง 526 ราย
วันนี้(14 พฤศจิกายน 2551)ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แพทย์หญิงมอรีน อี.เบอร์มิ่งแฮม (Dr. Maureen E Birmingham)ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และนายแพทย์อมันโด เปรูก้า (Dr. Armando Peruga )ผู้ประสานงานเสริมสร้างศักยภาพด้านการควบคุมยาสูบ ประจำองค์การอนามัยโลก แถลงข่าวผลการสำรวจความสามารถของประเทศไทย ในการปฏิบัติตามนโยบายการควบคุมยาสูบ
นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวว่า หลังจากที่องค์การอนามัยโลกประกาศใช้ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบนานาชาติ และมีประเทศสมาชิก 157 ประเทศ ร่วมลงนามในสัตยาบัน ซึ่งรวมทั้งไทยด้วย เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2546 และ 2547 แต่จากการติดตามมาตรการควบคุมยาสูบทั่วโลกในรอบ 5 ปี องค์การอนามัยโลกพบว่าอีกหลายประเทศยังดำเนินการควบคุมการบริโภคยาสูบได้ไม่ดีนัก ในปีนี้องค์การอนามัยโลกจึงทำการประเมินผล โดยคัดเลือกประเทศไทยและประเทศบราซิล เพื่อนำผลการสำรวจไปใช้ในการจัดทำแผนและคู่มือการควบคุมการบริโภคยาสูบของประเทศให้สมบูรณ์ ครอบคลุมแต่ละมาตรา ตามนโยบาย ต่อไป โดยดำเนินการระหว่างวันที่ 2-13 พฤศจิกายน 2551 ในกว่า 80 หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
ประเด็นการสำรวจครั้งนี้เน้นหนักที่ 6 มาตรการ ที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในการควบคุมยาสูบ ได้แก่ 1.การกำกับนโยบายการป้องกันและควบคุมการใช้ยาสูบ (Monitor Policy) 2.การปกป้องประชาชนจากควันบุหรี่ (Protect people from tobacco smoke)3.การให้ความช่วยเหลือในการเลิกใช้ยาสูบ (Offer help to quit) 4. การ เตือนถึงอันตรายของยาสูบ (Warning) 5.การบังคับใช้กฎหมาย เช่น ห้ามโฆษณา ห้ามส่งเสริมการขายและสปอนเซอร์ (Enforcement of laws) และ 6.การขึ้นภาษียาสูบ (Raise tax)
นายแพทย์ปราชญ์กล่าวต่อว่า สาเหตุที่องค์การอนามัยโลก เลือกประเทศไทยเป็นประเทศนำร่องสำรวจการควบคุมบุหรี่ เนื่องจาก ประเทศไทย ได้ดำเนินการตามกรอบดังกล่าวมาโดยตลอด และมีผลงานอยู่ในระดับที่ได้ผลดีในอันดับแนวหน้าของโลก และสาระของกฎหมายบุหรี่ของไทย ที่ประกาศใช้ในพ.ศ.2535 จำนวน 2 ฉบับ คือพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ มีความสอดคล้องกับกฎหมายบุหรี่ของโลกเป็นส่วนใหญ่ จึงทำให้การดำเนินงานมีความสอดคล้อง กัน
ผลการสำรวจการสูบบุหรี่คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปซึ่งมีทั้งหมด 51 ล้านกว่าคน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติล่าสุดในปี 2550 พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ 10.8 ล้านคน โดยเป็นคนที่ติดบุหรี่ต้องสูบประจำจำนวน 9. 4 ล้านคน ซึ่งเป็นชาย 9 ล้านคน ที่เหลือเป็นหญิง สูบเฉลี่ยวันละ 10 มวน และสูบนานๆครั้งจำนวน 1.3 ล้านคน ผู้ชายสูบมากกว่าหญิง 22 เท่าตัว และส่วนใหญ่อยู่ในเขตชนบท อายุที่เริ่มสูบเฉลี่ย18 ปี
ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในการประเมินผลงานด้านการควบคุมยาสูบของประเทศครั้งนี้ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากองค์การอนามัยโลกร่วมกับผู้เชี่ยวชาญฝ่ายไทย ได้สัมภาษณ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงสาธารณสุข ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคคือที่จังหวัดเชียงใหม่ และสงขลา มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย เครือข่ายวิชาชีพแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักสาธารณสุข เภสัชกร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานองค์การอนามัยโลก ผลการสำรวจ ปรากฏว่า การดำเนินงานด้านกฎหมายของไทยยังมีปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ การบังคับใช้กฎหมาย การควบคุมการโฆษณาและส่งเสริมการขายยาสูบผ่านทางอินเตอร์เน็ต และการจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเองเพื่อลดอัตราการบริโภค ทั้งนี้ตั้งแต่ มกราคม - กันยายน 2551 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนบุหรี่และสุรา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบุหรี่ 526 ราย
ผลการสำรวจครั้งนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญ ได้ให้ข้อเสนอแนะในการพิจารณาดำเนินการเพื่อป้องกันควบคุมการบริโภคยาสูบของไทยว่า ควรเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย ห้ามการโฆษณาและส่งเสริมการขายผ่านทางอินเตอร์เน็ต ห้ามบริษัทบุหรี่ข้ามชาติและโรงงานยาสูบของไทยด้วย โดยมักอยู่ในรูปการให้การสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ซึ่งเป็นการโฆษณาและส่งเสริมการขายทางอ้อม รวมทั้งการจัดเก็บภาษียาเส้นมวนเอง การหาแนวร่วมหรือการสร้างเครือข่ายควบคุมป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ ทุกเพศ ทุกวัย หลายหลายอาชีพ มากขึ้น และเสนอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดทำแผนการดำเนินงานควบคุมการบริโภคยาสูบร่วมกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไทยจะนำร่างผลการสำรวจและข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญครั้งนี้ เข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมยาสูบแห่งชาติ ประมาณเดือนมกราคม 2552 เพื่อปรับปรุงแก้ไขการควบคุมยาสูบในประเทศไทยให้เข้มข้นขึ้นต่อไป นายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย กล่าว
************** 14 พฤศจิกายน 2551
View 18
14/11/2551
ข่าวเพื่อมวลชน
สำนักสารนิเทศ