รพ.สรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ร่วมกันพัฒนาพื้นที่ขยายศักยภาพบริการศูนย์ความเลิศด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ดูแลประชาชนในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 10 ให้บริการรักษาพยาบาลทั้งทางกายและจิตใจ ฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด และเป็นศูนย์ผลิตและฝึกอบรมบุคลากร วางแผนให้บริการระยะแรก 100 เตียง และระยะที่สองขยายเป็น 300 เตียง

          วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กับ โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ กรมสุขภาพจิต ในโครงการศูนย์ความเป็นเลิศการรักษา ฝึกอบรม วิจัยด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต

          นพ.ชลน่านกล่าวว่า โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ เป็นโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ของเขตสุขภาพที่ 10 มีศักยภาพในการให้บริการทางการแพทย์ขั้นสูง ทำให้มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมาก จึงมีปัญหาเรื่องความคับแคบของสถานที่ให้บริการมาโดยตลอด ประกอบกับกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายมุ่งเน้นให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ลดความแออัด และลดการรอคอย จึงมีความเห็นให้ใช้ที่ดินส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จัดสร้างเป็นโรงพยาบาลที่มีความเป็นเลิศด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต ให้บริการรักษาพยาบาลแก่ประชาชนในพื้นที่ และบริการฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด รวมทั้งให้เป็นศูนย์ผลิตและฝึกอบรมบุคลากรและพัฒนางานวิจัยทางการแพทย์และสาธารณสุขไปด้วย โดยให้ทั้งสองโรงพยาบาลร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงาน

          “ความร่วมมือของทั้ง 2 โรงพยาบาลครั้งนี้ จะเกิดประโยชน์อย่างมากต่อการดูแลสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคทางกายและทางจิตใจในคนเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน รวมทั้งเมื่อมีการฝึกอบรม มีการศึกษาวิจัยพัฒนา ก็จะช่วยสร้างประโยชน์สูงสุดต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขด้วยถือเป็นต้นแบบของการจัดบริการที่เป็นองค์รวมให้กับพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไป” นพ.ชลน่านกล่าว

          ทั้งนี้ แผนการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศฯ แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นสถานบริการสุขภาพทางกายและสุขภาพจิต ขนาด 100 เตียง ให้บริการ อาทิ ระบบประสาทและจิตเวชศาสตร์ ฟื้นฟูสมรรถภาพ ดูแลผู้สูงอายุมีการรักษาด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก เป็นต้น และระยะที่ 2 จะขยายการบริการเป็นขนาด 300 เตียง เพิ่มศักยภาพการบริการสุขภาพจิต ให้การบริการศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชสุรา ยาเสพติด เป็นศูนย์การเรียนรู้ดูแลฟื้นฟูผู้ป่วยจิตเวชสูงอายุ/เรื้อรัง ศูนย์การฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านจิตเวช พร้อมทั้งจัดสร้างที่พักอาศัยสำหรับบุคลากร และปรับปรุงภูมิทัศน์สภาพแวดล้อม ตามหลักการ Healing Environment ด้วย

 **************************** 8 พฤศจิกายน 2566



   
   


View 572    08/11/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ