กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) มุ่งพัฒนาหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตามหลัก 3 อ. 2 ส. เผยผลประเมินความสำเร็จหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประจำปี 2566 ระดับดีเยี่ยม 12,058 หมู่บ้าน ระดับดีมาก 6,110 หมู่บ้าน ระดับดี 20,511 หมู่บ้าน และระดับพัฒนา 19,205 หมู่บ้าน ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี
สร้างหมู่บ้านเข้มแข็ง ลดการเจ็บป่วยและการเกิดโรค พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

          นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ปี 2560-2564 พบประชาชนป่วยและเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองเป็นจำนวนมาก โดยโรคดังกล่าวเกิดจากการมีพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้อง กรม สบส. โดยกองสุขศึกษา จึงได้นำแนวคิด กระบวนการสุขศึกษารูปแบบ “หมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ” ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนในหมู่บ้านดำเนินกิจกรรมพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพและจัดการสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี ตามหลัก 3 อ. 2 ส. คือ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มสุราและแอลกอฮอล์ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ลดการเจ็บป่วย พร้อมยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพและการปฏิบัติตนอย่างถูกต้อง และเกิดการร่วมมือกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมกันพัฒนาให้เกิดเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ดำเนินการโดยชุมชน ใช้ต้นทุนทางสังคม วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นฐานในการพัฒนาสุขภาพของชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรือไม่ก่อให้เกิดโรคก่อนวัยอันควร ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เกิดเป็นชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ โดยในปี 2566 ผลประเมินความสำเร็จหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ จากจำนวน 75,086 หมู่บ้านทั่วประเทศ มีหมู่บ้านที่ผ่านการประเมิน รวม 57,884 หมู่บ้าน แบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ 1) ระดับดีเยี่ยม จำนวน 12,058 หมู่บ้าน 2) ระดับดีมาก จำนวน 6,110 หมู่บ้าน 3) ระดับดี จำนวน 20,511 หมู่บ้าน และ 4) ระดับพัฒนา จำนวน 19,205 หมู่บ้าน  

          “การสร้างสุขภาพที่ดี โดยยึดหลัก 3 อ. 2 ส. จะทำให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และยังช่วยให้กลุ่มป่วยสามารถดูแลตนเองได้ เกิดเป็นหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ส่งผลต่อการมีสุขภาพดีถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน” อธิบดีกรม สบส. กล่าว

       นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า หมู่บ้านปรับเปลี่ยนฯ จะต้องดำเนินงานเกณฑ์การประเมินกระบวนการพัฒนาหมู่บ้านฯ 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การสร้างและพัฒนาทีมแกนนำพัฒนาหมู่บ้านฯ 2.มีและใช้ข้อมูลพื้นฐานหมู่บ้านและพฤติกรรมสุขภาพ 3.เข้าใจปัญหาและวางแผนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 4.จัดกิจกรรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 5.เฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพ 6.ประเมินผลการพัฒนา และ7.ถอดบทเรียน ขยายผลต่อยอดสู่ความยั่งยืน การประเมินผ่านโปรแกรม Health Gate ทางเว็บไซต์กองสุขศึกษา ซึ่งเป็นโปรแกรมการประเมินพัฒนาหมู่บ้านปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โรงเรียนส่งเสริมสุขบัญญัติแห่งชาติและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อยกระดับสู่การเป็นชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพและตำบลจัดการคุณภาพชีวิต ให้ประชาชนมีพฤติกรรมสุขภาพสุขภาพที่ดี สร้างชุมชนเข้มแข็ง ลดการเจ็บป่วยและการเกิดโรค พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน



   
   


View 393    01/11/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ