นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า เทศกาลกินเจ หรือ ประเพณีถือศีลกินผัก ละเว้นการกินเนื้อสัตว์และถือศีลบำเพ็ญบุญ ซึ่งในปีนี้จะตรงกับวันที่ 15-23 ตุลาคม 2566 (ช่วงเวลาของการกินเจ จะอยู่ที่ 9 วัน 9 คืน) ปัจจุบันนี้ประชาชนนิยมบริโภคกันมากขึ้น ไม่ว่าจะคนไทยหรือคนจีนทุกเพศทุกวัย โดยจะงดการบริโภคเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และผักที่มีกลิ่นฉุนหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากแป้ง ธัญพืช ผักและผลไม้แทน และไม่เพียงช่วงเทศกาลกินเจเท่านั้น ยังมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่หันมาบริโภคมังสวิรัติเป็นประจำหรือช่วงวันสำคัญ เห็นได้จากผลิตภัณฑ์อาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์มีจำหน่ายตลอดทั้งปี ซึ่งอาหารเหล่านี้มีการแปรรูปให้มีหน้าตา กลิ่น รสชาติใกล้เคียงเนื้อสัตว์ เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคเลือกซื้อกันอย่างแพร่หลาย เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก ทอดมัน ปลาเค็ม เป็นต้น ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายมีทั้งแบบมีฉลากและไม่มีฉลาก ทำให้มีการตรวจพบการปนเปื้อนดีเอ็นเอของเนื้อสัตว์ในอาหารเจ ส่วนใหญ่มาจาก 2 สาเหตุ คือ การทำความสะอาดสายการผลิตไม่ดีพอ และการเจตนาใส่ผงปรุงรสเพื่อเพิ่มรสชาติ

 


    นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า ในปี 2566 สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ดำเนินการสุ่มเก็บตัวอย่างผักและผลไม้สด เพื่อตรวจเฝ้าระวังการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ด้วยวิธีทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งในตัวอย่างที่ส่งมาตรวจวิเคราะห์มีผักที่นิยมบริโภคช่วงเทศกาลเจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี กวางตุ้ง หัวไชเท้า แครอท เห็ด ส้ม แอปเปิ้ล องุ่น ฝรั่ง สาลี่ จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 144 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ พบว่า ไม่พบการตกค้าง คิดเป็นร้อยละ 81.9 พบการตกค้าง แต่ไม่เกินค่ากำหนดตามพระราชบัญญัติอาหาร คิดเป็นร้อยละ 11.8 และพบการตกค้างเกินค่ากำหนด ตามพระราชบัญญัติอาหาร คิดเป็นร้อยละ 6.2 โดยผักและผลไม้สดที่พบการตกค้างสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกินมาตรฐานกำหนด ได้แก่ คะน้า และส้ม นอกจากนี้ได้มีการตรวจวิเคราะห์การปนเปื้อนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ (หมู ไก่ วัว ปลา) ในตัวอย่างอาหารเลียนแบบเนื้อสัตว์ ได้แก่ อาหารพร้อมบริโภค ไส้กรอก ลูกชิ้น เป็นต้น จำนวน 14 ตัวอย่าง ไม่พบการปนเปื้อนดีเอ็นเอเนื้อสัตว์ทุกตัวอย่าง โดยทุกตัวอย่างเป็นตัวอย่างที่มีฉลากระบุสถานที่ผลิต เลขสารบบอาหาร วันเดือนปีผลิตชัดเจน

 


    นายแพทย์ยงยศ กล่าวต่อว่า การรับประทานอาหารเจที่เลียนแบบเนื้อสัตว์ ผู้บริโภคหรือผู้ปรุงอาหาร ควรเลือกซื้อวัตถุดิบจากร้านที่มั่นใจและอาหารต้องมีฉลากระบุ สถานที่ผลิต วันเดือนปี และเลขสาระบบอาหารที่ชัดเจน เพราะถ้าแหล่งผลิตไม่ได้มาตรฐานบางครั้งอาจมีส่วนประกอบ เช่น ไข่ นมหรือเนื้อสัตว์ปนเปื้อน และหลีกเลี่ยงการรับประทานหรือซื้ออาหารที่มีการแปรรูป และรสชาติที่เหมือนเนื้อสัตว์มากจนเกินไป สำหรับผักและผลไม้สดควรล้างน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานหรือนำมาปรุงอาหาร โดยการล้างให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เริ่มตั้งแต่การเตรียมผักโดยเคาะเอาเศษดิน ปอกเปลือก หรือตัดส่วนที่ไม่รับประทานออก แล้วจึงนำผักผลไม้มาล้าง เพื่อสารพิษตกค้างด้วย 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ ล้างด้วยน้ำสะอาด เพียงแช่ผักในน้ำ จากนั้นเปิดน้ำไหลผ่านแรงพอประมาณ และคลี่ใบผักถูไปมานาน 2 นาที ล้างด้วยน้ำส้มสายชู โดยแช่ผักผลไม้ในน้ำผสมน้ำส้มสายชู 5 เปอร์เซ็นต์ ในอัตราส่วนน้ำส้มสายชู 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 4 ลิตร นาน 10 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด ล้างด้วยโซเดียมไบคาร์บอเนต โดยใช้ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาครึ่งช้อนโต๊ะผสมน้ำ 10 ลิตร แช่ทิ้งไว้ 15 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำสะอาด เพียงเท่านี้ผู้บริโภคก็จะกินเจได้อย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ และอิ่มบุญ อิ่มใจ ตลอดช่วงเทศกาลกินเจปีนี้
 



   


View 448    17/10/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ