กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการเฝ้าระวังอุบัติเหตุจากการจราจรทางเรือในรอบ 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีผู้บาดเจ็บปีละกว่า 400 ราย ตายกว่า 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาย เหตุกว่าร้อยละ 60 เกิดในทะเล มากสุดช่วงมรสุมและเทศกาลท่องเที่ยว สาเหตุจากบรรทุกน้ำหนักเกิน สภาพเรือไม่สมบูรณ์ ขาดเครื่องช่วยชีวิตบนเรือ เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยาง เสนอหน่วยงานเกี่ยวข้องให้เข้มงวดมาตรการเพื่อความปลอดภัยมากขึ้น นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ปัจจุบันการเดินทางและการขนส่งทางน้ำ ยังเป็นเส้นทางสำคัญและเป็นทางเลือกหนึ่งของคนไทย เนื่องจากมีความสะดวก รวดเร็ว ขณะที่การท่องเที่ยวทางน้ำเพื่อชมทัศนียภาพ วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสายน้ำ ก็เป็นที่นิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางน้ำเพิ่มขึ้นด้วย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายให้สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค วิเคราะห์ข้อมูลผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางเรือ ที่เข้ารักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ 28 แห่งทั่วประเทศ ย้อนหลัง 10 ปี และข้อมูลจากกองตรวจการขนส่งทางน้ำ กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กระทรวงคมนาคม ระหว่าง พ.ศ. 2541-2550 ของ พบว่า การเกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทางเรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 18 ครั้ง เหตุเกิดมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และมีแนวโน้มสูงในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลท่องเที่ยว และบางเดือนเป็นช่วงมรสุม นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตพบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยมีผู้บาดเจ็บเฉลี่ยปีละ 427 ราย มากที่สุดในปี 2549 จำนวน 569 ราย สาเหตุเกิดจากเรือล่มและพลิกคว่ำ ร้อยละ 87 รองลงมาเป็น เรือชนกัน ร้อยละ 7 และเรือเกิดเพลิงไหม้ ร้อยละ 4 สำหรับผู้เสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 22 ราย มากที่สุดในปี 2549 จำนวน 31 ราย สาเหตุเกิดจากเรือล่มและพลิกคว่ำ ร้อยละ 57 รองลงมา เรือชนกัน ร้อยละ 28 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นชายมากกว่าหญิงถึง 4 เท่า โดยกลุ่มอายุ 35-49 ปี บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด ส่วนกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีแนวโน้มบาดเจ็บและเสียชีวิตสูงขึ้น เมื่อสอบสวนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ พบว่าเกิดจากการบรรทุกเกินน้ำหนัก เรือมีสภาพไม่ปลอดภัย คนขับเรือไม่ชำนาญ และบนเรือไม่มีเครื่องช่วยชีวิต เช่น เสื้อ ชูชีพ ห่วงยาง หรือมีแต่ไม่เพียงพอ โดยมีเหตุธรรมชาติ เช่น พายุ คลื่นลมแรง เป็นปัจจัยเสริม ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แหล่งน้ำที่เกิดอุบัติเหตุทางเรือมากที่สุดคือทะเล ร้อยละ 60 ที่เหลือเกิดในแม่น้ำลำคลอง จากการสอบสวนเหตุการณ์การเกิดอุบัติเหตุจราจรทางน้ำที่ผ่านมา เห็นได้ว่า แม้หน่วยงานที่รับผิดชอบจะมีการออกกฎหมายเพื่อควบคุม ป้องกัน และกำหนดมาตรฐานการโดยสารและการจราจรขนส่งทางน้ำอย่างชัดเจน แต่ผู้ประกอบการยังมีการละเมิด ไม่ได้ให้ความสำคัญที่จะทำตามกฎหมาย รวมทั้งการดำเนินการเพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคจะนำเสนอข้อมูลที่ได้ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อให้มีการกำกับ ดูแล การคมนาคมและขนส่งทางน้ำอย่างเข้มงวดมากขึ้น ไม่ให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กำหนด ให้มีการตรวจสภาพเรือตามระยะเวลา รวมทั้งจัดหาเครื่องช่วยชีวิต เช่น เสื้อชูชีพ ห่วงยางลม ให้เพียงพอกับจำนวนผู้โดยสาร นอกจากนี้ จะเร่งให้ข้อมูลความรู้แก่ประชาชน โดยเฉพาะเด็กวัยเรียน ให้ตระหนักถึงวิธีปฏิบัติในการโดยสารทางเรือให้ปลอดภัย เตรียมแผนรับเหตุฉุกเฉินอุบัติภัยทางน้ำ และฝึกซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้การให้ความช่วยเหลือรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ *****************************11 พฤศจิกายน 2551


   
   


View 15    11/11/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ