ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ส่งทีมจิตแพทย์ดูแลสุขภาพจิตเด็กนักเรียนโรงเรียนดงมะไฟวิทยา จ.สกลนคร ที่เกิดอาการอุปทานหมู่ ผลการตรวจจากทีมแพทย์ไม่พบสิ่งผิดปกติทางกาย ด้านจิตแพทย์ชี้เป็นโรคติดต่อทางใจ บำบัดหาย ไม่กำเริบเป็นโรคจิต ผลวิเคราะห์ผู้ที่มีอาการมักมีบุคลิกภาพอ่อนแอ ถูกชักจูงง่าย จากกรณีสื่อมวลชนนำเสนอข่าว มีเด็กนักเรียนหญิงโรงเรียนมัธยมศึกษาดงมะไฟวิทยา ต.ขมิ้น อ.เมือง จ.สกลนคร กว่า 100 คน เกิดอาการชัก ร้องไห้ และส่งเสียงกรีดร้องโวยวายพร้อม ๆ กัน ในขณะร่วมพิธีทำบุญที่หอประชุมโรงเรียน โดยมีนักเรียนหลายคนมีอาการดังกล่าวมาตั้งแต่เริ่มเปิดเทอม แต่อาการไม่มาก ขณะนี้ผู้บริหารโรงเรียนดังกล่าวได้สั่งปิดโรงเรียน 2 วัน ในวันที่ 9 – 10 พฤศจิกายน 2549 นั้น นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า อาการที่เด็กนักเรียนเป็นครั้งนี้ทางการแพทย์เรียกว่า อุปทานหมู่ อยู่ในกลุ่ม Dissociative (Conversion) Disorders เป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่พบได้ในทุกภูมิภาคไทย เกิดจากความเชื่อของท้องถิ่น โดยมากมักเกิดในกลุ่มเด็กหญิง เมื่อมีความเครียด วิตกกังวลหรือความผิดหวังจากเรื่องการเรียน เรื่องเพื่อนหรือครอบครัว ร่วมกับการถูกกระตุ้นด้วยความเชื่อบางอย่างจะเกิดอาการได้ง่าย เมื่อเกิดอาการขึ้น 1 คน คนอื่น ๆ จะได้รับความเครียดแผ่ติดต่อกันไปอย่างรวดเร็ว คล้ายโรคติดต่อ แต่เป็นโรคติดต่อทางใจ เนื่องจากยังมีภาวะจิตใจไม่เข้มแข็งเพียงพอ ทำให้ถูกเหนี่ยวนำทางจิตใจได้ง่าย โดยเฉพาะในสังคมไทยที่มักมีความเชื่อเรื่องภูตผี วิญญาณเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ได้สั่งการให้กรมสุขภาพจิตส่งทีมจิตแพทย์ไปช่วยเสริมทีมแพทย์พยาบาลโรงพยาบาลสกลนคร เพื่อดูแลให้คำปรึกษาแก่เด็กนักเรียน ครอบครัว และชุมชนให้คลายความวิตกกังวล นายแพทย์ปราชญ์กล่าวว่า จากการส่งทีมแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลสกลนคร ไปที่โรงเรียน ดงมะไฟวิทยา เพื่อตรวจรักษาเด็กที่มีอาการดังกล่าว หลังจากได้ปฐมพยาบาลและนวดให้เด็กผ่อนคลายอาการเกร็ง เด็กส่วนใหญ่มีอาการดีขึ้น สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ มีเพียง 3 คนที่ยังมีอาการอยู่ จึงรับตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสกลนคร ผลการตรวจไม่พบความผิดปกติด้านร่างกาย ได้ให้กินยาคลายเครียดและนอนพักผ่อน ขณะนี้อาการเป็นปกติ ยังมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย จะให้กลับไปพักผ่อนต่อที่บ้านในช่วงบ่ายวันนี้ ทางด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวว่า ได้สั่งการให้โรงพยาบาลจิตเวชนครพนมราชนครินทร์ และศูนย์สุขภาพจิตที่ 14 ส่งทีมจิตแพทย์และพยาบาล ไปทำการวิเคราะห์สาเหตุ และความเสี่ยงที่ทำให้เด็กเกิดอาการอุปทานหมู่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำอีก โรคนี้ไม่ใช่โรครุนแรงอย่างใดไม่กำเริบเป็นโรคทางจิต แต่ที่สำคัญผู้ปกครอง พ่อแม่ ครูอาจารย์ จะต้องเข้มแข็งเป็นที่พึ่งให้กับเด็ก ให้รู้สึกปลอดภัย กลับเป็นตัวของตัวเองโดยเร็ว ในการรักษาอาการอุปทาน อันดับแรกต้องแยกเด็กออกจากกัน โดยเฉพาะคนที่มีอาการมาก หรือเริ่มต้นเป็นคนแรก ๆ ให้กลับไปอยู่บ้าน เพื่อลดการเหนี่ยวนำทางจิตใจให้กับคนอื่น โดยทั่วไปเด็กจะดีขึ้นเอง หากเป็นมาก ๆ จะให้ยาคลายเครียดให้หลับพักผ่อนเพื่อให้อาการดีขึ้นโดยเร็ว ที่ผ่านมามีรายงานการเกิดอุปทานหมู่หลายจังหวัด ส่วนใหญ่เกิดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่นที่จังหวัดสกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ หนองคาย เป็นกลุ่มเล็กประมาณ 10 คน มีอาการชักเหมือนผีเข้า ตรวจไม่พบความผิดปกติทางร่างกาย ผลการวิเคราะห์สุขภาพจิต พบมีบุคลิกอ่อนแอ ถูกชักจูงง่าย มีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์อย่างมาก ประกอบกับความเครียดเรื่องการเรียนจึงทำให้เกิดอาการขึ้น*** พฤศจิกายน2/6 **************************** 9 พฤศจิกายน 2549


   
   


View 7       ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ