สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 145 View
- อ่านต่อ
2 รัฐมนตรีสาธารณสุข พบกับผู้แทน 3 ชมรมผู้บริหารทางการแพทย์ ในฐานะผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่ที่มีความพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบาย โดยร่วมจัดทำแผนขับเคลื่อน 13 Quick Win สู่การปฏิบัติ เดินหน้าทั้งบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ บริการปฐมภูมิ สุขภาพดิจิทัล พร้อมดันออกระเบียบกลางสนับสนุนการตั้งชมรมให้มีกฎหมายรองรับการดำเนินงาน
วันนี้ (21 กันยายน 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารระดับสูง ประชุมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุข ร่วมกับ 3 ชมรมทางการแพทย์ ได้แก่ ชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชน
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ทั้ง 3 ชมรมมาร่วมแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสที่ตนและนายสันติเข้าได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี พร้อมทั้งร่วมจัดทำแผนขับเคลื่อนนโยบายด้านสาธารณสุขทั้ง 13 ประเด็น รองรับนโยบาย 30 บาทพลัส ที่กำหนด Quick Win ใน 100 วัน ลงสู่แผนการปฏิบัติและขับเคลื่อนดำเนินการ ซึ่งทั้ง 3 ชมรมได้แสดงความพร้อมที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะหลาย Quick Win ที่มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับทั้ง 3 ชมรมในฐานะหน่วยบริการ เช่น บริการปฐมภูมิ สุขภาพดิจิทัล หรือบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ One ID Card Smart Hospital ทั้งนี้ ได้ย้ำเป้าหมายสำคัญที่จะให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกสบาย เข้าถึงได้ง่าย เป็น One Province One Hospital หรือ 1 จังหวัด เสมือนมี 1 โรงพยาบาล ทำให้ประชาชนรู้สึกว่า นี่คือโรงพยาบาลของประชาชน
นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า สำหรับ Quick Win นำร่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 4 เขตสุขภาพ ได้แก่ เขตสุขภาพที่ 1, 4, 9 และ 12 ทั้ง 4 เขตสุขภาพได้เสนอที่จะรับดำเนินการ และส่วนกลางได้ประเมินความพร้อมทั้งระดับผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานแล้วว่าจะสามารถเกิดผลลัพธ์ตามที่ตั้งเป้าไว้ ส่วนเขตสุขภาพอื่นที่ต้องการดำเนินการก็จะมีการประเมินความพร้อมต่อไป เชื่อว่าภายในต้นปี 2568 จะสามารถขยายได้ครบทุกเขตสุขภาพทั่วประเทศ ส่วน รพ.สต.ที่มีการถ่ายโอนไปท้องถิ่นแล้ว คาดว่าไม่น่าจะเกิดปัญหา เนื่องจากมีการเชื่อมโยงบริการระดับปฐมภูมิ นำระบบดิจิทัล เทเลเมดิซีน มาสร้างความเข้มแข็งในการให้บริการ รวมทั้งจะมีคณะกรรมการพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ขึ้นมารองรับ ทำให้แม้จะต่างสังกัดแต่ก็จะมีการบูรณาการให้การดำเนินการมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียวกัน
“ชมรมต่างๆ ทางการแพทย์และสาธารณสุขที่มีในขณะนี้ เป็นการจัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือกันและมีการออกข้อระเบียบบังคับของตัวเอง แต่จะไม่มีกฎหมายมารองรับ ซึ่งการรวมตัวเป็นองค์กรของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ลักษณะนี้ จะมีความแน่นแฟ้น มั่นคง เป็นเอกภาพ ตอบสนองเชิงนโยบายและดูแลเรื่องสวัสดิภาพ สวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานได้ดี จึงมีแนวคิดที่จะสนับสนุนให้เกิดกลไกทางกฎหมายรองรับ เช่น มีระเบียบหรือข้อบังคับกลางที่จะช่วยสนับสนุนให้ชมรมเหล่านี้ทำงานภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงฯ เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบร่วมด้วย” นพ.ชลน่านกล่าว
********************************************** 21 กันยายน 2566