วันนี้ (20 กันยายน 2566) นายแพทย์โสภณ เมฆธน อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการอบรมเสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขระดับสูงระดับอำเภอ ในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม รุ่น 2 ปี 2566 พร้อมด้วย นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ นายกสมาคมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพไทย แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อดีตอธิบดีกรมสุขภาพจิต และดร.นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ร่วมงาน ณ โรงแรมทีเค พาเลซ แอนด์คอนเวนชั่น แจ้งวัฒนะ กรุงเทพมหานคร

    นายแพทย์โสภณ เมฆธน อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสำคัญด้านสาธารณสุข ปี 2567 ทั้ง 13 ด้าน มุ่งแก้ปัญหา วางรากฐาน และสร้างเศรษฐกิจ จากนโยบายการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลและสถานีอนามัยให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขอำเภอถือเป็นหน่วยงานสังกัดกระทรวงสาธารณสุขระดับพื้นที่ที่ใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด จึงเห็นควรให้มีการยกระดับสมรรถนะผู้บริหารสาธารณสุขระดับอำเภอ ให้มีความเข้มแข็งและแข็งแกร่งต่อการเผชิญสถานการณ์ผันผวนให้เกิดผลในทิศทางที่ดีขึ้น ถูกต้องและเหมาะสม

         ดร. นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอฺธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) เป็นส่วนสำคัญในการดูแลสุขภาพประชาชน โดยมีกรมอนามัยเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับคณะกรรมการสร้างเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพแห่งชาติ และภาคีเครือข่าย เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพ และนำข้อมูลสุขภาพมาประกอบการตัดสินใจได้อย่างรอบด้าน ลดการถูกหลอกลวง และความผิดพลาดในการเลือกดูแลสุขภาพตนเอง รวมทั้งเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จากผลการสำรวจความรอบรู้ด้านสุขภาพของประชาชนในปี 2562 พบว่า ประชาชนร้อยละ 55 มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ไม่ได้เรียนหนังสือ ผู้ที่มีรายได้น้อย และยังพบข้อจำกัดในการสืบค้นและค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ กรมอนามัยจึงเร่งเสริมสร้างทักษะในการสืบค้นและค้นหาข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพที่น่าเชื่อถือ รวมทั้งปรับระบบและรูปแบบบริการสุขภาพ ให้มีความซับซ้อนน้อยลงเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย สร้างและพัฒนาองค์กร สถานบริการสาธารณสุข ชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่สำคัญที่สุด คือ ผู้บริหารสาธารณสุขในพื้นที่ ควรมีองค์ความรู้รอบด้านและมีทักษะขั้นสูง รวมถึงมีทัศนคติ ที่เหมาะสมกับทิศทางการพัฒนาของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว

       "ทั้งนี้ หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้บริหารระดับสูงระดับอำเภอ (การส่งเสริมความรอบรู้สุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม) รุ่นที่ 2 กรมอนามัยร่วมมือกับคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ชมรมสาธารณสุข และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิทั่วประเทศ จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ อภิปราย ฝึกปฏิบัติอิงสถานการณ์จริง และเสริมสร้างทักษะด้านต่าง ๆ ให้กับสาธารณสุขอำเภอ เช่น ภาวะผู้นำและนักบริหารยุคใหม่ในศตวรรษที่ 21 จิตวิทยาการวิจัยและการประเมินผล นวัตกรรมการสื่อสารสังคมการตลาดด้านสุขภาพDigital transformation การสร้างระบบรับมือและปรับตัวต่อโรคอุบัติใหม่และโรคอุบัติซ้ำที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การใช้กฎหมายเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริหารสาธารณสุขยุคใหม่ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 สร้างพี่เลี้ยงด้านสุขภาพ (Health Coacher) ระดับอำเภอ และสร้างเครือข่ายด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อรวมพลังรวมใจพัฒนาสู่อำเภอรอบรู้ด้านสุขภาพยุคสุขภาพดิจิทัล (Digital Health) และยกระดับความรอบรู้ด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนางานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่อไป" รองอฺธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 ***                      

กรมอนามัย / 20  กันยายน 2566



   
   


View 398    20/09/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ