กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ยกระดับครอบครัว ชุมชนรอบรู้ด้านสุขภาพ สร้างคนไทยสุขภาพดี พร้อมทั้งเชิดชูเกียรติชุมชนต้นแบบดีเด่น จำนวน 27 แห่ง จากชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ 189 ชุมชน และสร้างแกนนำครอบครัว ชุมชน 4,476 คน
         วันนี้ (30 สิงหาคม 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครอบครัว ชุมชนต้นแบบ และเชิดชูเกียรติพื้นที่ที่มีการดำเนินงานดีเด่น ‘สานพลังครอบครัว ชุมชนรอบรู้สุขภาพ ปี 2566’ ณ โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ต จังหวัดปทุมธานี ว่า  การสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาวะ การป้องกัน และควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่คุกคามสุขภาวะ ถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการปฏิรูปความรอบรู้และการสื่อสารด้านสุขภาพ เพื่อให้การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของประชาชนประสบความสำเร็จ และมีความเป็นรูปธรรม สำหรับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) คือ ระดับความสามารถของบุคคล ที่เกิดจากกระบวนการทำความเข้าใจข้อมูลสุขภาพขั้นพื้นฐาน และบริการที่จำเป็นสำหรับประกอบการตัดสินใจเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและคนในครอบครัว เป็นสิ่งที่กรมอนามัยดำเนินการสร้างอย่างต่อเนื่อง
          นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการสำรวจความรอบรู้สุขภาพของคนไทยในปี 2562 พบว่า คนไทยร้อยละ 19 มีความรอบรู้ด้านสุขภาพไม่เพียงพอ และยังขาดแนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารด้านสุขภาพและเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ยังพบว่าปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของโลก คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบประชากรทั่วโลก เสียชีวิตจากโรค NCDs มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ยังให้คำนิยามปัจจัยสู่ความสำเร็จของการปฏิรูปความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) ว่าการพัฒนาและส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ รวมทั้งสร้างและพัฒนาขีดความสามารถบุคคลในการธำรงรักษาสุขภาพตนเองอย่างยั่งยืน ต้องปรับเปลี่ยนที่พฤติกรรมสุขภาพพื้นฐาน ด้วยการปลูกฝังให้เป็นสุขนิสัย เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 
             “ทั้งนี้ กรมอนามัยได้ดำเนินงานโครงการยกระดับครอบครัว ชุมชนรอบรู้สุขภาพภายใต้วิถีชีวิตปกติใหม่ เพื่อส่งเสริมสุขภาพเชิงรุก มีการบริหารจัดการโดยให้ความรู้ เทคนิค วิธีการ คำแนะนำและสื่อสารสาธารณะ เพื่อสร้างสุขภาวะ และคุณภาพชีวิตที่ดี โดยบูรณาการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดและเลือกตัดสินใจในการดำเนินงานให้สอดคล้องตามเจตจำนง บริบท และสภาพปัญหาของครอบครัว ชุมชน รวมถึงการสนับสนุนข้อมูลองค์ความรู้การดูแลสุขภาพผ่านดิจิทัลสมุดสุขภาพประจำตัว (Health book) ของกรมอนามัย เพื่อนำไปใช้ผ่านแกนนำครอบครัว ชุมชน (Digital Care giver) เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนในครอบครัว ชุมชน เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน ผลการดำเนินงานในปี 2566 มีชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 189 ชุมชน จากเป้าหมาย 77 ชุมชนมีแกนนำครอบครัว ชุมชน 4,476 คน จากเป้าหมาย 1,300 คน ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการมอบรางวัลเชิดชูเกียรติพื้นที่ที่มีผลการดำเนินงานดีเด่น จำนวน 27 แห่ง แล้ว และยังเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนการดำเนินงาน เพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาและขยายผลการดำเนินงานให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***


กรมอนามัย / 30 สิงหาคม 2566

 



   
   


View 573    30/08/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ