กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี ส่งเสริมการตรวจคัดกรองสายตาในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – 6 เพื่อลดภาวะเสี่ยงสายตาผิดปกติ ป้องกันการเกิดภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการทางสายตาได้ พร้อมส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ

           วันนี้ (29 สิงหาคม 2566) นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวังและส่งเสริมสุขภาพสายตานักเรียนตามวิถีชีวิตใหม่ รูปแบบเสมือนจริง ( Virtual Meeting ) ณ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข โดยได้รับความสนใจจากบุคลากรทางการศึกษา สาธารณสุข และผู้สนใจจำนวนกว่า10,000 เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้ เนื่องจากเด็กเป็นกำลังสำคัญที่จะเติบโตขึ้นไปพัฒนาชาติ ทั้งนี้ การเรียนรู้มากกว่า ร้อยละ 80 เกิดจากการมองเห็น ดวงตาจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญ ที่ช่วยให้มองเห็นสิ่งต่างๆ ช่วยเพิ่มทั้งโอกาสการเรียนรู้ของเด็ก ช่วยให้เด็กเรียนเก่งเรียนดี เพิ่มสติปัญญาความฉลาด กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัยมีนโยบายขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยสายตาดี ภายใต้การมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการขับเคลื่อนสานต่อโครงการเด็กไทยสายตาดี (MOU) เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 ประกอบด้วย 10 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1) กรมอนามัย 2) กรมการแพทย์ 3) คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาตา 4) ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย 5) ห้างแว่นท๊อปเจริญ 6) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 7) กระทรวงศึกษาธิการ 8) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 9) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และ 10) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย เพื่อเพิ่มโอกาสการเรียนรู้ มีเป้าหมายตรวจคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ พร้อมมอบแว่นสายตาอันแรกแก่เด็กที่มีสายตาผิดปกติ

           นายแพทย์เอกชัย กล่าวต่อไปว่า ผลการดำเนินงานในปีการศึกษา 2565 สรุปจำนวนเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี 1 มีจำนวน 886,806 คน ได้รับการคัดกรองสายตาจำนวน 342,684 คน (หรือร้อยละ 38.64) โดยพบความเสี่ยง 37,683 คน (หรือร้อยละ 11) และได้รับแว่นตา จำนวน 18,243 คน (หรือร้อยละ 48.41) ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมานั้นได้รับความร่วมมือระหว่างบุคลากรทางการศึกษา บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกระดับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคีเครือข่ายอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน ในการคัดกรองสายตาให้นักเรียนได้รับแว่นตาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง อีกทั้งมีการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพเด็กไทยสายตาดี ในการช่วยลดภาวะเสี่ยงต่อการเกิดสายตาผิดปกติ ป้องกันการเกิดภาวะตาขี้เกียจที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความพิการทางสายตาต่อไปได้

          “ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองสายตานักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6  หรือเด็กที่มีอายุ 6 – 12 ปี นั้นช่วงเวลาที่เหมาะสมคือเทอม 1 ของทุกปีการศึกษา ซึ่งการตรวจคัดกรองสายตานักเรียนถือเป็นสิทธิประโยชน์ตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หากตรวจพบสายตาผิดปกติ จะมีการส่งต่อให้เด็กได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ และพิจารณาให้ใส่แว่นสายตา ซึ่งเป็นการสร้างความร่วมมือเสริมสร้างผนึกพลังขับเคลื่อนโครงการ เพื่อเด็กไทยสายตาดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและช่วยพัฒนาประเทศชาติต่อไป” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 29  สิงหาคม 2566



   
   


View 476    29/08/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ