กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย เผยประสิทธิผลและความปลอดภัยหัตถการพอกเข่าในกลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการปวดเข่าดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุดเตรียมเสนอผลงานวิจัย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชน ในระบบหลักประกันสุขภาพ ต่อไป
     นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) จัดทำโครงการศึกษาวิจัยประสิทธิผลและ ความปลอดภัยของหัตถการพอกเข่ากลุ่มผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ เป็นการศึกษาเชิงการทดลอง ซึ่งผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาโครงร่างงานวิจัยในคนแล้ว โดยคาดหวังว่าผลการศึกษานี้จะทำให้การพอกเข่าเป็นหัตถการที่สำคัญของการแพทย์แผนไทยที่ช่วยลดอาการปวด อาการฝืด และเพิ่มการเคลื่อนไหวข้อเข่าให้ดีขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคไต โรคหัวใจ และ โรคกระเพาะอาหาร ช่วยลดการใช้ยาแก้ปวด ลดความเสี่ยงจากผลข้างเคียงสำคัญของยาแก้ปวดได้
      สำหรับ ยาพอกเข่าตำรับนี้ เป็นยาพอกเข่าสูตรร้อน เหมาะสำหรับการรักษาโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ซึ่งเป็นสูตรตำรับดั้งเดิมของอาจารย์อภิชาติ ลิมป์ติยะโยธิน ซึ่งเป็นอาจารย์แพทย์แผนไทยที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับลูกศิษย์ตั้งแต่อดีต และ มีการนำมาใช้จนถึงปัจจุบัน โดยยาพอกเข่าสูตรตำรับนี้ ทางผู้วิจัยผลิตจากโรงงานที่ผ่านมาตรฐาน GMP โดย กองพัฒนายาแผนไทยและสมุนไพร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้ผลิตเพื่องานวิจัยครั้งนี้ ยาพอกเข่าตำรับนี้ ประกอบด้วยสมุนไพรหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการรักษาที่แตกต่างกัน จำแนกได้เป็น 4 กลุ่มหลัก คือ1) กลุ่มที่มีสรรพคุณแก้ปวด แก้อักเสบ แก้บวม แก้เส้น ได้แก่ หัวดองดึง  ใบพลับพลึง ไพล ขิง ผักเสี้ยนผี ว่านน้ำ และ ว่านร่อนทอง 2) กลุ่มที่มีสรรพคุณ ทำให้เลือดไหลเวียนดี ได้แก่ พริกไทยล่อน และ ผิวมะกรูด 3) กลุ่มที่รักษาอาการอักเสบจากการติดเชื้อ ได้แก่ เจตมูลเพลิงแดง ข่า และว่านนางคำ และ 4) กลุ่มที่มีฤทธิ์ขับของเสียออกทางผิวหนัง หรือ  รูขุมขน  ได้แก่ ใบมะขาม และ ใบส้มป่อย เป็นต้น
      จากผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า ที่ได้รับหัตถการพอกเข่าร่วมกับการนวดจะมีอาการปวด อาการฝืดของข้อเข่าลดลง และ มีความสามารถในการใช้งานของข้อเข่าดีกว่าผู้ที่ได้รับหัตถการนวดเพียงอย่างเดียว และสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีภาวะเข่าเสื่อมทุกระยะ (ระยะ 0 - 4) เมื่อได้รับหัตถการพอกเข่าร่วมกับการนวดเพียงอย่างเดียว จะมีอาการดีขึ้นทุกราย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์แต่อย่างใด 
       นายแพทย์ธงชัย กล่าวในตอนท้ายว่า กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เตรียมผลักดันให้หัตถการพอกเข่าเป็นการจัดบริการสำหรับประชาชนที่มีปัญหาปวดข้อเข่าจากภาวะข้อเข่าเสื่อมหรือโรคลมจับโปงแห้งเข่า โดยจะส่งเสริมให้หน่วยบริการทุกแห่งให้บริการด้านหัตถการพอกเข่า รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนารูปแบบยาพอกเข่าให้เป็นนวัตกรรมที่สะดวกและง่ายต่อการนำไปใช้ได้ด้วยตนเอง เช่น แผ่นแปะ, สเปรย์, เจล , ลูกกลิ้ง ฯลฯ รวมทั้งนำผลการศึกษานี้เป็นข้อมูลนำเข้าให้กับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้ในการพิจารณาเพิ่มเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนที่มารับบริการในระบบบริการได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน ต่อไป

                    ………………………………………………….28 สิงหาคม 2566........................................................
 



   


View 780    28/08/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ