คณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 ประกอบด้วย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงบประมาณ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีที่เกี่ยวข้อง ประชุมติดตามผลการดำเนินงานการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้คนไทยทุกกลุ่มวัยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้น และลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง หลังสถานการณ์โควิด-19

      วันนี้ (22 สิงหาคม 2566) นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ได้ติดตามผลการดำเนินงานการส่งเสริมกิจกรรมทางกายคนไทยหลังจากสถานการณ์โควิด-19 เพื่อฟื้นฟูการมีกิจกรรมทางกายของประชาชนทุกกลุ่มวัย ณ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย ได้ดำเนินงานตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 ร่วมกับภาคีเครือข่าย อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงแรงงาน ศูนย์พัฒนาองค์ความรู้ ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย (TPAK) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างโอกาสและสภาพแวดล้อมให้คนไทยมีกิจกรรมทางกายในชีวิตประจำวันอย่างเพียงพอ พร้อมขับเคลื่อนระบบสนับสนุนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 5 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และวิจัยกิจกรรมทางกาย 2) ระบบสนับสนุน   การติดตามการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย 3) ระบบสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากร 4) ระบบสนับสนุนการสื่อสารรณรงค์กิจกรรมทางกาย และ 5) ระบบการพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมกิจกรรมทางกาย

        “สำหรับการประชุมในครั้งนี้ คณะกรรมการบริหารการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ตามแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573  ได้ร่วมกันพิจารณา (ร่าง) แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2566) ซึ่งได้จัดทำขึ้นภายใต้ข้อพิจารณาจากองค์ความรู้และความร่วมมือใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก และจากผลการประเมินแผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ. 2561 – 2573 (ระยะ 5 ปีแรก)” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

          ทางด้าน นายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานส่งเสริมกิจกรรมทางกาย กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัย และภาคีเครือข่ายได้ดำเนินการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ และสร้างความเข้าใจเรื่องกิจกรรมทางกายให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มวัยผ่านกิจกรรม “ก้าวท้าใจ” ทั้งกิจกรรมก้าวท้าใจ 10K Championships ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 5,000 คน และกิจกรรมก้าวท้าใจ season 5 ซึ่งมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 5,209,567 บัญชี กรมอนามัยได้จัดทำข้อแนะนำกิจกรรมทางกายและพฤติกรรมเนือยนิ่ง ก้าวเดินในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หลัก 10 ประการเพื่อสุขอนามัยการนอนหลับที่ดีทุกกลุ่มวัย จัดทำหลักสูตรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ (DPAC Online) พร้อมทั้งได้พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายผ่านหลักสูตรดังกล่าว โดยมีเป้าหมายคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร้อยละ 20 หรือ 1,451 แห่ง จาก 7,255 แห่ง ประชุมวิชาการเครือข่ายนักวิชาการและนักวิจัย ด้านกิจกรรมทางกายประเทศไทย วิจัยนวัตกรรมรูปแบบการส่งเสริมการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการและทักษะเด็กไทย ในศตวรรษที่ 21 รวมถึงส่งเสริมกิจกรรมทางกายผ่านช่องทางออนไลน์ เช่น platform ก้าวท้าใจ, facebook, YouTube, Banner บนเว็บไซต์, line, Live Streaming เป็นต้น

***

กรมอนามัย / 22  สิงหาคม 2566



   
   


View 310    22/08/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ