เดชอิศม์ ปลื้ม ไทยได้รับ ‘เมืองสุขภาพดี’ สี่แห่งจากองค์การอนามัยโลก มอบกรมอนามัยพัฒนารูปแบบต่อเนื่องเพื่อขยายผล หวังสร้างสุขภาพดีทั่วเมืองไทยเป็นของขวัญปีใหม่
- กรมอนามัย
- 619 View
- อ่านต่อ
กรมวิทย์ฯ - อีอีซี จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานสากล ร่วมกันขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีและยานวัตกรรมในราคาที่เหมาะสม คุณภาพเท่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ
วันนี้ 21 สิงหาคม 2566 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐาน Good Manufacturing Practice (GMP) ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เพื่อขับเคลื่อนและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ Advanced Therapy Medicinal Product (ATMP) เช่น เทคโนโลยีการผลิตเซลล์บำบัด เซลล์ต้นกำเนิด การรักษาด้วยยีน และวิศวกรรมเนื้อเยื่อ เป็นต้น เป็นการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะในด้านอุตสาหกรรมการแพทย์มูลค่าสูง ที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมของประเทศ และสอดคล้องตามวาระแห่งชาติด้าน Bio Circular and Green Economy Model หรือ BCG Model
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในวันนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความร่วมมือระหว่างสองหน่วยงานที่จะช่วยกันบูรณาการทั้งงานวิจัย พัฒนา และการให้บริการด้วยผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง หรือ ATMP ในประเทศไทย สู่นวัตกรรมการแพทย์สมัยใหม่ที่นำออกมาใช้งานจริงเพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วยในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์การแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและได้มาตรฐานสากลเทียบเท่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงที่ได้มาตรฐานสากล GMP จะช่วยรองรับการดำเนินงานในเรื่องดังกล่าว ซึ่งที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากต่างประเทศมักมีราคาแพงจนทำให้มีอุปสรรคในการเข้าถึงของประชากรกลุ่มใหญ่ หากมีการผลิตใช้ภายในประเทศจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการอีอีซี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมการแพทย์มีความตื่นตัวจากความก้าวหน้าด้านการรักษาโรคด้วยเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูง เช่น การรักษาด้วยเซลล์บำบัด หรือ ยีนบำบัด ซึ่งเป็นการรักษาแบบใหม่ที่ให้โอกาสแก่ผู้ป่วยโรคที่รักษาได้ยาก หรือรักษาไม่ได้ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือด โรคที่เกิดจากพันธุกรรมให้สามารถรักษาจนหายขาดได้ นับเป็นเทคโนโลยีแห่งความหวังของผู้ป่วยหลายๆโรค ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังมีมูลค่าสูง บางผลิตภัณฑ์ไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ ภายใต้ความร่วมมือนี้ นอกจากจะได้พาร์ทเนอร์คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ทางอีอีซียังประสานความร่วมมือกับโรงเรียนแพทย์ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อช่วยกันสร้างระบบนิเวศให้ประเทศไทยมีขีดความสามารถในการผลิตและรักษาโรคด้วยเทคโนโลยี ATMP รองรับความต้องการจาก ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงยกระดับความเป็นศูนย์กลางการแพทย์ หรือ Medical Hub ของประเทศไทยให้มีเทคโนโลยีการแพทย์ที่ล้ำสมัยทัดเทียมกับนานาชาติ
นอกจากนั้น ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว อีอีซี และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ในการร่วมลงทุนกับเอกชน เพื่อจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการผลิตและทดสอบผลิตภัณฑ์การแพทย์ขั้นสูงฯ ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่พึ่งพาตนเองได้ โดยคาดหวังให้เกิดการดึงดูดการลงทุนจากเอกชนต่างชาติที่มีศักยภาพและมีเทคโนโลยีด้านการผลิต ATMP ที่เป็นมาตรฐานระดับโลก ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการแพทย์ขั้นสูงในประเทศไทย และขยายระดับการผลิตให้มีขนาดใหญ่ มีต้นทุนที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจฐานใหม่ของประเทศ ให้ประเทศไทยเป็นฐานในการผลิตยาและนวัตกรรมทางการแพทย์ สร้างตำแหน่งงานทักษะสูงให้กับบุคลากรรุ่นใหม่ของไทย รวมถึงสร้างโอกาสในการเข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีและยานวัตกรรมในราคาที่เหมาะสมให้กับประชาชนไทย