สธ.เผย “อหิวาต์” จ.ตาก ควบคุมได้แล้ว ไม่มีผู้ป่วยเพิ่ม ออก 6 มาตรการเข้มป้องกันช่วงสังสรรค์ปีใหม่
- สำนักสารนิเทศ
- 512 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยแนวโน้มสถานการณ์โรคโควิด 19 ค่อนข้างทรงตัว แต่ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 607 ที่ไม่ได้รับวัคซีน ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น หรือรับเข็มกระตุ้นนานเกิน 3 เดือน ย้ำฉีดวัคซีนโควิดคู่ไข้หวัดใหญ่เพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิต ส่วนไข้เลือดออกพบป่วยเพิ่มสัปดาห์ละ 5-6 พันรายเสียชีวิตสะสม 58 ราย เป็นเด็กโตและผู้ใหญ่ กำชับทุกจังหวัดเร่งรัดกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยเฉพาะโรงพยาบาล โรงเรียน ศาสนสถาน
วันนี้ (18 สิงหาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังการประชุมติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และสถานการณ์โรคติดต่อที่สำคัญ ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ในประเทศไทย ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 6-12 สิงหาคม 2566) มีผู้ป่วยรายใหม่ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล 318 ราย เฉลี่ย 45 รายต่อวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ 136 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 83 ราย และเสียชีวิต 7 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน แนวโน้มสถานการณ์ค่อนข้างทรงตัว แต่ที่สำคัญคือ ผู้เสียชีวิตยังคงเป็นกลุ่ม 607 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค โดยมีปัจจัยเสี่ยงคือ ไม่ได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 ไม่ได้ฉีดเข็มกระตุ้น หรือฉีดเข็มกระตุ้นมานานเกิน 3 เดือน ทั้งนี้ ได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดรณรงค์กระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยงดังกล่าวเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 พร้อมกับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและการเสียชีวิต รวมทั้งสื่อสารแนวทางป้องกันโรคส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 65,552 ราย โดยช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 5,000-6,000 รายต่อสัปดาห์ ได้เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุข กรณีโรคไข้เลือดออกแล้ว 31 จังหวัด และเปิดในระดับเขตรวม 7 เขต ส่วนผู้เสียชีวิตสะสมมี 58 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กโตและผู้ใหญ่ถึง 40 ราย ปัจจัยที่ทำให้เสียชีวิต คือ ช่วงแรกที่ป่วยมักไม่ได้คิดถึงโรคไข้เลือดออก และได้รับยากลุ่มเอ็นเสดเพื่อลดไข้ ทำให้เลือดออกง่ายและมีความเสี่ยงเกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิต ดังนั้น หากมีไข้ รับประทานยาลดไข้ 2 วันแล้วไม่ดีขึ้น ให้สงสัยว่าอาจจะเป็นโรคไข้เลือดออกและรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคให้ชัดเจน และเนื่องจากโรคไข้เลือดออกยังไม่มียารักษาโดยเฉพาะ สิ่งสำคัญที่จะช่วยได้คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคทุกสัปดาห์ ซึ่งจากการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่างๆ ยังพบมากทั้งในโรงเรียน โรงพยาบาล ครัวเรือน ศาสนสถาน โรงงาน โรงแรม และสถานที่ราชการ รวมทั้งกำจัดยุงในบ้านเรือนและป้องกันยุงกัดเมือพบผู้ป่วยสงสัยไข้เลือดออก
“ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉิน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสานไปถึงนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อสั่งการหน่วยงานในสังกัดให้ร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายในหน่วยงานให้หมดไป และเร่งรัดการควบคุมโรคในพื้นที่ระบาด” นพ.โอภาสกล่าว
********************************* 18 สิงหาคม 2566