กรมการแพทย์แผนไทยฯ เดินหน้าควบคุมร้านกัญชาตามกฎหมาย พร้อมเผยกรณี “ชูวิทย์” ส่งจดหมายขออภัย
- สำนักสารนิเทศ
- 35 View
- อ่านต่อ
อย. แนะผู้บริโภคที่ต้องการเข้ารับบริการเสริมความงาม ควรตรวจสอบข้อมูลเพื่อความปลอดภัยว่า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้รับอนุญาตจาก อย. หรือไม่ สถานบริการได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่ รวมถึงผู้ให้บริการเป็นผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขหรือไม่
เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวผู้รับบริการหน้าพังหลังเข้าคอร์สทำหน้า “พิโคเลเซอร์ (Pico Laser)” จากคลินิกและทราบภายหลังว่าผู้ให้บริการไม่ใช่แพทย์ประจำคลินิก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่า เครื่อง Pico Laser หรือ Picosecond Laser เป็นเครื่อง Laser ที่ทำงานโดยส่งคลื่นพลังงานความถี่สูง (1 ต่อล้านล้านวินาที) ไปยังผิวหนังเป้าหมายที่มีปัญหา เพื่อลดเม็ดสีในบริเวณดังกล่าว ซึ่งมีคุณสมบัติเจาะจงกับเมลานินและเม็ดสีที่เข้มได้ดี โดยจะส่งการสั่นสะเทือนต่อผิวหนังอย่างรุนแรง ทำให้เม็ดสีหรืออนุภาคของผิวแตกเป็นเสี่ยง ๆ ซึ่งเครื่องดังกล่าวมักใช้ในการรักษาจุดด่างดำ กระฝ้า เม็ดสีเข้ม ๆ ใต้ชั้นผิวหนัง หรือใช้ในการลบรอยสัก รวมถึงกระตุ้นคอลาเจนบนชั้นผิวหนัง เป็นต้น ทั้งนี้ การใช้เครื่องดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ผิวแห้ง แดง จากการโดนเลเซอร์ รอยคล้ำหลังทำเลเซอร์ ผื่น บวม รวมถึงรอยตกสะเก็ดหลังการใช้
ทั้งนี้ เครื่อง Pico Laser จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ที่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องแจ้งรายการละเอียดกับ อย. ก่อน จึงจะสามารถผลิตหรือนำเข้าได้ โดยต้องใช้ในสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตและต้องใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข หรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์หรือสาธารณสุข สำหรับผู้รับบริการควรตรวจสอบก่อนเข้ารับบริการว่าเป็นสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต
รองเลขาธิการฯ อย. กล่าวย้ำในตอนท้ายว่า ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบเครื่อง Pico Laser ที่ได้รับอนุญาตจาก อย. ได้ที่เว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หรือผ่านทาง QR Code นี้
*******************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 18 สิงหาคม 2566 / ข่าวแจก 164 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566