ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดประชุมวิชาการชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคใต้ “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณค่าภายใต้รูปแบบระบบสุขภาพระดับอำเภอ” เพื่อประชาชนได้รับบริการอย่างไร้รอยต่อ พร้อมมอบรางวัลชนะเลิศผลงานทางวิชาการ และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ/โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่น ระดับจังหวัด เขต และภาค

          วันนี้ (26 กรกฎาคม 2566) ที่โรงแรมบรรจงบุรี อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมวิชาการชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคใต้  “ก้าวสู่ระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณค่าภายใต้รูปแบบระบบสุขภาพระดับอำเภอ” (Step To Quality Primary Health Care Under New Model Smart District Health System) ประจำปี 2566 พร้อมมอบรางวัลสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่น ระดับจังหวัด เขต และภาค รวมทั้งผลงานวิชาการยอดเยี่ยมระดับประเทศ รวม 34 รางวัล โดยมี นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี นายแพทย์กิตติศักดิ์ อักษรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 11 นายประพันธ์ ใยบุญมี ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย นายวีรศักดิ์ เบญอะหลี ประธานชมรมสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ภาคใต้ คณะผู้บริหาร และบุคลากรสาธารณสุข จาก 14 จังหวัด ภาคใต้ เข้าร่วมกว่า 800 คน

          นายแพทย์โอภาส กล่าวว่า ระบบสุขภาพปฐมภูมิเป็นกลไกสำคัญที่จะทำให้เกิดความมั่นคงด้านสุขภาพในระดับพื้นที่ ต้องมีการพัฒนาให้มีคุณภาพในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานได้อย่างทั่วถึง สะดวก รวดเร็ว และใกล้บ้าน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่ จึงต้องมีความเข้าใจกระบวนทัศน์ใหม่ในงานสาธารณสุข โดยเฉพาะการทำงานภายใต้รูปแบบระบบสุขภาพระดับอำเภอ และปรับกลยุทธ์การทำงานเชิงรุกให้สอดคล้องกับระบบบริการที่เปลี่ยนไป เพื่อให้เกิดระบบสุขภาพปฐมภูมิที่มีคุณค่าและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

          ด้าน นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ให้บุคลากรสาธารณสุขทุกระดับทุกสังกัด ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานและร่วมกันขับเคลื่อนระบบสุขภาพปฐมภูมิได้อย่างไร้รอยต่อ รวมทั้งมีการประกวดผลงานวิชาการ 5 ประเภท ได้แก่ งานวิจัย, งานประจำสู่งานวิจัย (R2R), งานพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง (CQI), นวัตกรรม และการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่ายด้านการแพทย์ (Photo Voice) ซึ่งมีผลงานชนะเลิศ จำนวน 15 ผลงาน จากผลงานที่ผ่านการคัดเลือกรอบสุดท้าย 177 ผลงาน และการมอบรางวัลให้กับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดีเด่น ระดับจังหวัด เขต และภาค รวม 19 รางวัล

******************************************* 26 กรกฎาคม 2566



   
   


View 19084    26/07/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ