อย. ไทย ต้อนรับคณะผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ของญี่ปุ่น (JPMA) ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรม
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 5 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 ภายใต้แนวคิด “บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย : Oral Health in Upcoming Era” พร้อมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน
วันนี้ (6 กรกฎาคม 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการเป็นประธานการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 “บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย” (Oral Health in Upcoming Era) ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพมหานคร ว่า จากข้อมูลสถานการณ์สุขภาพโดยองค์การอนามัยโลกในปี 2561 พบว่า ประชาชนทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากถึงร้อยละ 71 สำหรับประเทศไทยพบ การเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง มากถึงร้อยละ 74 พบปัญหาการเกิดของคนไทยน้อยลง เด็กที่เกิด ปี 2565 มีจำนวน 502,107 คน ซึ่งมีจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งของการเกิดเมื่อ 50 ปีก่อน สำหรับปัญหาสุขภาพช่องปากยังเป็นปัญหาที่สำคัญของคนไทย โดยพบว่า ในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 52.9 และเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 75.6 มีประสบการณ์ฟันน้ำนมผุส่วนเด็กวัยเรียนและเยาวชนอายุ 12 ปี ร้อยละ 52 มีประสบการณ์การเกิดโรคฟันแท้ผุ ส่วนกลุ่มวัยทำงานอายุ 35 - 44 ปี มีปัญหาสภาวะปริทันต์ที่พบการอักเสบของเหงือก มีเลือดออกง่าย ร้อยละ 51.0 และปัญหาโรคฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 43.3 สำหรับผู้สูงอายุ พบว่า มีฟันถาวรใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ เพียงร้อยละ 56.1
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมากรมอนามัยได้ดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะด้านทันตสาธารณสุข ได้มีการปรับรูปแบบการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขยุคใหม่ ที่เพิ่มการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยในการดำเนินงานส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน รวมทั้ง ปรับบริการส่งเสริมสุขภาพที่จำเพาะกับบุคคล ด้วยเวชศาสตร์วิถีชีวิตใช้ Digital technology ในการสร้าง Health Literacy โดยพัฒนา Digital Health Book และสร้างนิเวศใหม่ในการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ ซึ่งทั้งหมดนี้ เป็นสิ่งที่ทันตบุคลากรและบุคลากรสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องควรตระหนัก รับรู้ และปรับตัวให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตลอดจนประยุกต์ใช้กระแสการเปลี่ยนแปลงให้เป็นประโยชน์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเหมาะสม
“สำหรับการประชุมวิชาการทันตสาธารณสุขแห่งชาติ ครั้งที่ 9 พ.ศ. 2566 บริบทใหม่กับการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากคนไทย (Oral Health in Upcoming Era) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์การดำเนินงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก รวมถึงเป็นเวทีเพื่อนำเสนอผลงานวิชาการเชิงรูปแบบและนวัตกรรมด้านทันตสาธารณสุขในทุกช่วงวัย มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 330 คน ประกอบด้วยทันตบุคลากร นักวิชาการ และภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมีวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการบรรยายและอภิปรายรวม 5 หัวข้อ มีการนำเสนอผลงานวิชาการภายใต้ประเด็นการพัฒนาระบบบริการส่งเสริมสุขภาพช่องปากทุกกลุ่มวัย การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในช่องปาก และการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพช่องปาก เพื่อรองรับบริบทใหม่ในการส่งเสริมสุขภาพช่องปาก ทั้งในรูปแบบโปสเตอร์และวาจา รวมทั้งสิ้น 36 เรื่อง ซึ่งผลงานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดียิ่งขึ้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 6 กรกฎาคม 2566