กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) ร่วม 3 หน่วยงาน แถลงผลการตรวจสอบเบื้องต้น เหตุหญิงสาว เสียชีวิตขณะเข้ารับบริการศัลยกรรมจมูก กับคลินิก ใน จ.ปทุมธานี เบื้องต้นสั่งฟันโทษ 6 ข้อหา พร้อมสั่งปิด 30 วัน ก่อนส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบหาสาเหตุการเสียชีวิต

วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ณ อาคารกรม สบส. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. พร้อมด้วย ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. ผศ.นพ.ต่อพล วัฒนา ผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา นพ.อภิชน จีนเสวก รก.นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี และนายมานะ บุญส่ง ผู้อำนวยการฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แถลงผลการตรวจสอบ กรณี หญิงสาว อายุ 26 ปี เข้ารับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม บริเวณจมูก จากคลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ในย่านธัญบุรี จ.ปทุมธานี และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

นพ. สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่กรม สบส.ได้รับข้อมูลเหตุผู้เสียชีวิตที่คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่ง ใน จ.ปทุมธานี กรม สบส.จึงได้ประสานงานกับ สสจ.ปทุมธานี เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของ สสจ.ปทุมธานี ได้ทำการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของคลินิกที่ถูกกล่าวอ้าง ซึ่งพบว่ามีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เปิดให้บริการทุกวัน เวลา 10.00 – 22.00 น. โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ผ่านมา พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงลงพื้นที่สอบสวนข้อเท็จจริงในเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ข้อชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องกับคลินิกว่า ผู้เสียชีวิต ได้นัดมาทำศัลยกรรมแก้ไขจมูกที่คลินิก ซึ่งเป็นการผ่าตัดโดยใช้วิธีดมยาสลบ ระหว่างทำการผ่าตัด ผู้ป่วยเริ่มแสดงสัญญาณชีพผิดปกติ และเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น ก่อนจะเสียชีวิตในเวลาต่อมา ทางคลินิกจึงได้เข้าแจ้งความกับสถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์  เนื่องจากเกิดการตายผิดธรรมชาติ พร้อมส่งร่างผู้เสียชีวิตไปชันสูตรเพิ่มเติม เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิต โดยหลังจากได้บันทึกข้อชี้แจงแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้ดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของคลินิกว่ามีการปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานที่พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดไว้หรือไม่ โดยเบื้องต้นพบการกระทำในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานสถานพยาบาล ดังนี้  1)มีการแสดงเวลาทำการสถานพยาบาล ไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาต 2) คลินิกไม่แสดงป้ายสอบถามอัตราค่ารักษาพยาบาล และไม่แสดงคำประกาศสิทธิผู้ป่วย 3)เวชระเบียน ไม่เป็นไปตามที่กฎกระทรวงกำหนด 4)ไม่มีที่วัดส่วนสูง 5)ไม่มีอุปกรณ์นับเม็ดยา และฉลากยาแสดงข้อมูลไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด 6)ตู้เย็นแช่ยาไม่มีที่วัดอุณหภูมิยา 7)ไม่ขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาล 8)แพทย์ผู้ให้บริการมิได้ยื่นเรื่องแสดงความจำนงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล และ 9)มีการต่อเติมอาคารเพื่อให้บริการห้องผ่าตัดโดยไม่ได้รับอนุญาต พนักงานเจ้าหน้าที่ฯ จึงได้แจ้งข้อหาการกระทำผิดในเบื้องต้นกับผู้เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมส่งข้อมูลที่ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริงต่อการเสียชีวิตของหญิงสาวรายดังกล่าว

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า  สำหรับ ความผิดของคลินิกดังกล่าว ในเบื้องต้นจะมีการดำเนินการตามข้อหาตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 1)ไม่จัดให้มีเครื่องมือ เครื่องใช้ ยา และเวชภัณฑ์ที่จำเป็นประจำสถานพยาบาลตามที่กำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 2)ไม่จัดให้มีและรายงานหลักฐานเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 3)ไม่ควบคุมและดูแลสถานพยาบาลให้สะอาด เรียบร้อย ปลอดภัย และมีลักษณะอันเหมาะสมแก่การเป็นสถานพยาบาล ความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 4)ไม่ขออนุมัติโฆษณาสถานพยาบาลจากผู้อนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และให้ปรับอีกวันละไม่เกิน 10,000 บาทนับแต่วันที่ฝ่าฝืนคำสั่งที่ให้ระงับการโฆษณาหรือประกาศ ทั้งนี้ จนกว่าจะระงับการโฆษณาหรือประกาศดังกล่าว 5)ต่อเติมอาคารหรือดัดแปลงอาคารเพื่อใช้ในการประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท 6)ในส่วนห้องผ่าตัดที่มีการต่อเติมขึ้นมาเพื่อให้บริการผู้ป่วยโดยมิได้ขออนุญาตนั้น มีความผิดตาม พระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเบื้องต้น สสจ.ปทุมธานีได้มีการออกคำสั่งปิดคลินิกดังกล่าว เป็นการชั่วคราว 30 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2566 เพื่อให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงให้ถูกต้องตามมาตรฐานภายในระยะเวลากำหนด  หากคลินิกไม่มีการแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็อาจจะมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาลได้

ทั้งนี้ กรม สบส.จะดำเนินการส่งหนังสือแจ้งเวียนถึง สสจ.ทั่วประเทศ ให้มีการตรวจสอบสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน (คลินิก) ในพื้นที่ว่ามีการลักลอบให้บริการห้องผ่าตัดโดยมิได้ขออนุญาตหรือไม่ เพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุอันตรายต่อชีวิตของผู้รับบริการดังกรณีนี้ และหากประชาชนพบเห็นหรือทราบเบาะแสการให้บริการที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานของโรงพยาบาล คลินิก หรือพบการใช้หมอเถื่อนมาให้บริการ สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426 หรือ สสจ. ในพื้นที่ ในวันและเวลาราชการ เพื่อเร่งนำตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ที่มา กรม สบส. 

6/16/66



   
   


View 253    16/06/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ