องค์การอนามัยโลกคาดแต่ละปีมีผู้ที่เสี่ยงโรคไข้เลือดออกปีละ 2,500 ล้านคน หรือ 2 ใน 5 ของประชากรโลก และจะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกปีละ 50 ล้านคน จัดประชุมไข้เลือดออกนานาชาติ เลือกไทย เป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์ ของนักวิชาการในการค้นคว้าเรื่องไข้เลือดออกหาแนวทางทางสังคมร่วมกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการป้องกันควบคุมโรค วันนี้ (15 ตุลาคม 2551) ที่โรงแรมฮิลตัล อาคาเดีย รีสอร์ทแอนด์สปา จังหวัดภูเก็ต นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมไข้เลือดออกนานาชาติ ครั้งที่ 2 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2551 โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 909 คน จาก 48 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ว่า องค์การอนามัยโลกได้คาดประมาณว่า ทั่วโลกมีผู้ที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกถึงปีละ 2,500 ล้านคน หรือ 2 ใน 5 ของประชากรโลกทั้งหมด และจะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกปีละ 50 ล้าน คน กระจายอยู่กว่า 100 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ได้แก่ อัฟริกา อเมริกา เมดิเตอร์เรเนียนตะวันออก เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตะวันตก ซึ่งนอกจากจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นและการแพร่ระบาดในพื้นที่ใหม่ๆ แล้ว ยังมีรายงานการแพร่ระบาดรุนแรงในหลายพื้นที่ด้วย เช่น ในปี 2550 สหรัฐอเมริกาพบผู้ป่วยไข้เลือดออกจำนวน 26,000 ราย เวเนซุเอลาพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 6,000 ราย เป็นต้น นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าแต่ละปีทั่วโลกมีผู้ป่วยไข้เลือดออกต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลประมาณ 500,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็ก ในจำนวนนี้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 2.5 หรือ 12,500 ราย ซึ่งผู้ป่วยไข้เลือดออกเหล่านี้หากไม่ได้รับการดูแลรักษาที่ดีพอ จะทำให้อัตราตายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 แต่ถ้าได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ พยาบาลที่มีความรู้โรคไข้เลือดออกอย่างดี จะช่วยลดอัตราตายให้เหลือไม่ถึงร้อยละ 1 การประชุมไข้เลือดออกนานาชาติ ซึ่งไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสดีที่ผู้เชี่ยวชาญ แพทย์ นักวิทยาศาสตร์ของไทย จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์กับประเทศอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องไข้เลือดออกในสาขาต่างๆ ทั้งความรู้ในตัวเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรค กลไกการทำให้เกิดโรค การปรับปรุงการเฝ้าระวังโรค การตรวจวินิจฉัยโรค รวมถึงการหาแนวทางทางสังคมร่วมกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการควบคุมป้องกันโรค ด้านนายแพทย์หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 มกราคม 2551-4 ตุลาคม 2551 ประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกทั้งหมด 68,235 ราย ตาย 82 ราย ภาคกลางพบผู้ป่วยมากสุด 32,968 ราย ตาย 42 ราย รองลงมาเป็นภาคเหนือป่วย 16,809 ราย ตาย 23 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือป่วย 9,784 ราย ตาย 6 ราย และภาคใต้ป่วย 8,674 ราย ตาย 11 ราย โดย 10 จังหวัดที่มีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นในรอบ 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ สมุทรปราการ นครปฐม พิษณุโลก พระนครศรีอยุธยา แพร่ อุตรดิตถ์ จันทบุรี และลำพูน กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนกิจกรรมการป้องกันควบคุมโรคในทุกระดับ รวมทั้งสร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาโรคไข้เลือดออก นอกจากนี้ ยังได้พัฒนามาตรฐานการป้องกันควบคุมโรค จึงจัดตั้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว (SRRT TEAM) และสนับสนุนการค้นคว้าต่อยอดทางวิชาการ ในการตรวจวินิจฉัยและพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก ศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กล่าวถึงความก้าวหน้าของวัคซีนไข้เลือดออก ว่า หลังจากที่ได้ทำการทดลองมาเป็นระยะเวลา 30 ปี ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งสามารถรวมวัคซีนทั้ง 4 ชนิดให้อยู่ในเข็มเดียวกันได้ ปัจจุบันการทดลองวัคซีนดังกล่าวได้ดำเนินการทดลองซึ่งเริ่มเข้าระยะที่ 3 แล้ว คาดว่าภายใน 5 ปีวัคซีนโรคไข้เลือดออกจะสามารถใช้ได้ ด้านดร.ชูศักดิ์ ประสิทธิสุข ผู้ประสานงานควบคุมโรคติดต่อ องค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (WHO SEARO) กล่าวว่า ปัจจุบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรทั้งหมด 1,600 ล้านคน และมีประชากรที่เสี่ยงต่อโรคไข้เลือดออกจำนวน 1,400 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ซึ่งองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความกังวลในเรื่องนี้ จึงได้ร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ทำแผนควบคุมโรค เนื่องจากการควบคุมโรคต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศเพื่อนบ้านด้วย ******************************15 ตุลาคม 2551


   
   


View 10    15/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ