ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 166 View
- อ่านต่อ
ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 ลงพื้นที่โรงพยาบาลราชบุรี ติดตามรับฟังการทำงานของแพทย์ Intern แพทย์พี่เลี้ยง และสตาฟฟ์ หลังมีข่าวแพทย์ลาออก เผยมีเสียงสะท้อนเรื่องภาระงานหนัก ขอปรับการออกตรวจให้ตรงเวลา ทีมผู้บริหารโรงพยาบาลพร้อมปรับปรุง และมอบ นพ.สสจ.เกลี่ยแพทย์ รพ.ชุมชนมาช่วย รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป ตามอัตราครองเตียงและจำนวนการส่งต่อ
วันนี้ (7 มิถุนายน 2566) พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ไปติดตามและรับฟังปัญหาในการทำงานของแพทย์โรงพยาบาลราชบุรี ทั้งแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (Intern) แพทย์พี่เลี้ยง และทีมแพทย์สตาฟฟ์ หลังมีข่าวแพทย์ลาออกจากภาระงานหนัก โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดด้านเวชกรรมป้องกัน แพทย์สตาฟฟ์และตัวแทนแพทย์ Intern แพทย์พี่เลี้ยง เข้าประชุม ร่วมกันกว่า 30 คน เพื่อให้ข้อเสนอแนะเชิงระบบ
พญ.อัจฉรากล่าวว่า บรรยากาศการหารือและการให้ข้อเสนอต่างๆ เป็นไปด้วยดี น้องแพทย์ Intern รู้สึกดีที่กระทรวงให้ความสนใจและส่งผู้บริหารมาร่วมรับฟัง ทีมแพทย์สตาฟฟ์ได้สะท้อนถึงนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ให้ดูแลแพทย์ Intern ในการเพิ่มพูนทักษะ ว่าพร้อมที่จะช่วยกันพัฒนาเรื่องนี้ให้ดีขึ้น รวมถึงรับฟังประเด็นปัญหาที่มีการพูดถึงในสื่อโซเชียลต่างๆ เพื่อนำมาพูดคุยและช่วยกันพัฒนาให้ระบบบริการดีขึ้น โดยได้จัดอาจารย์ของศูนย์แพทยศาสตร์ศึกษามาเป็นผู้ดูแลแพทย์ Intern ของโรงพยาบาลด้วย
"ในการพูดคุยครั้งนี้ แพทย์ Intern และแพทย์พี่เลี้ยงได้สะท้อนปัญหาเรื่องภาระงานที่ค่อนข้างหนัก และอยากให้ปรับปรุงการออกตรวจผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกให้ตรงเวลา ซึ่งผู้บริหารโรงพยาบาลและประธานองค์กรแพทย์ได้รับทราบ และจะนำไปแก้ไขให้ดีขึ้นต่อไป" พญ.อัจฉรากล่าว
พญ.อัจฉรากล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาขาดแคลนแพทย์ของพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 พบว่ามีหลายจังหวัด ทั้งกาญจนบุรี ราชบุรี และประจวบคีรีขันธ์ สาเหตุจากมีแพทย์ลาออกมากขึ้น และเขตสุขภาพที่ 5 ได้รับการจัดสรรแพทย์ใช้ทุนมาค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับโรงพยาบาลแหล่งฝึก 16 แห่ง แนวทางแก้ไขเบื้องต้น ได้มอบหมายให้นายแพทย์สาธารณสุขแต่ละจังหวัด เกลี่ยแพทย์จากโรงพยาบาลชุมชนมาช่วยโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ตามนโยบาย 1 จังหวัด 1 โรงพยาบาล (One Province One Hospital) โดยพิจารณาจากอัตราครองเตียงและจำนวนการส่งต่อมาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งจะมีการติดตามข้อมูลและประเมินผลการดำเนินการเป็นระยะต่อไป
**************************** 7 มิถุนายน 2566