กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ชวนคนไทยลดการใช้พลาสติก และปลูกต้นไม้ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และลดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษ เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

          นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) โดยในปีนี้ องค์การสหประชาชาติ (UN) กำหนดแคมเปญ Beat Plastic Pollution คือ การหาวิธีแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติก (Plastic Pollution) กรมอนามัยจึงขอชวนคนไทยช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมด้วยการลดการใช้พลาสติก และใช้หลัก 3 Rs คือ R: Reduce ลดการใช้ ใช้น้อยเท่าที่จำเป็น R: Reuse ใช้ซ้ำ และใช้ประโยชน์ให้มากขึ้น และ R: Recycle แปรรูปมาใช้ใหม่ ตลอดจนสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสถานประกอบการ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เช่น การจัดการปัญหาขยะพลาสติกตกค้างในชุมชน เนื่องจากพลาสติกมีคุณสมบัติยากต่อการสลายตัวและเสื่อมสภาพ ทำให้คงอยู่ในสภาพแวดล้อมได้เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา รวมถึงหลีกเลี่ยงการเผาขยะกลางแจ้ง เนื่องจากทำให้เกิดมลพิษทางอากาศและเกิดสารพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

        นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทยที่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญของประเทศ ซึ่งปัจจุบันยังพบเกินค่ามาตรฐานในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้นั้น เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพจากมลพิษทางอากาศ กรมอนามัยจึงขอเชิญชวนปลูกต้นไม้ในบ้านและบริเวณรอบบ้าน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและช่วยดักฝุ่นรอบบ้าน ซึ่งสามารถปลูกเป็นแนวกำแพง รั้วต้นไม้ หรือเกาะผนัง โดยต้นไม้ที่เลือกปลูกควรมีใบเรียวเล็ก ชื้น หยาบ มีขน ผิวใบเหนียว หรือมีพื้นผิวใบโดยรวมมาก จะทำให้ฝุ่นเกาะติดใบได้ดี มีลำต้นหรือก้านที่โครงสร้างพันกันสลับซับซ้อนก็มีส่วนช่วยดักจับฝุ่นได้เช่นกัน แต่ไม่ควรปลูกไม้ผลัดใบ เพราะบางช่วงไม่มีใบดักจับฝุ่น ซึ่งต้นไม้ที่ช่วยดักฝุ่นได้ดี ได้แก่ การเวก สนฉัตร สนทะเล พวงครามออสเตรเลีย ไทรเกาหลี โมก ศรีตรัง ทองอุไร ตะขบ อโศกอินเดีย นนทรี คริสติน่า แปรงล้างขวด และหางนกยูงไทย

             “ทั้งนี้ การปลูกต้นไม้นอกจากจะช่วยดักจับฝุ่นแล้ว ยังช่วยดูดสารมลพิษที่ปล่อยออกมาจากสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้านได้ เช่น พลูด่าง ลิ้นมังกร วาสนา หมากเหลือง เบญจมาศ ลิ้นมังกร ปาล์มไผ่ ว่านหางจระเข้ สาวน้อยประแป้ง เดลี ไทรใบใหญ่ เป็นต้น นอกจากนี้ การปลูกต้นไม้ยังช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยฟอกอากาศ ลดการเกิดภูมิแพ้และหอบหืดได้ อีกทั้งยังให้ความร่มรื่น ทำให้สดชื่น ผ่อนคลาย ลดความเครียด รวมทั้งลดอุณหภูมิรอบบ้าน และป้องกันรังสี UV ได้เป็นอย่างอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

กรมอนามัย / 7 มิถุนายน 2566



   
   


View 361    07/06/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ