ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 118 View
- อ่านต่อ
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผยผู้ติดเชื้อโควิด 19 เพิ่มขึ้นตามคาดการณ์ ผู้เสียชีวิตยังเป็นกลุ่มเสี่ยง 608 ที่ติดเชื้อจากคนในครอบครัวและไม่ได้รับวัคซีนตามกำหนด ย้ำให้ลูกหลานพามารับวัคซีนประจำปี กทม.-ปริมณฑล พบการระบาดสูงกว่าพื้นที่อื่น ให้กรมควบคุมโรคเร่งประสานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กทม. เร่งรัดการฉีดวัคซีน ขณะที่ “ไข้เลือดออก” เริ่มพบมากขึ้น อาการเริ่มต้นคล้ายโรคติดต่อทางเดินหายใจหลายโรคทำให้วินิจฉัยยาก ย้ำทุกจังหวัดเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย บุคลากรการแพย์พบผู้ป่วยให้คิดถึงโรคไข้เลือดออก
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์โรคโควิด 19 ว่า สถานการณ์การระบาดเป็นไปตามคาดการณ์ คือ หลังเทศกาลสงกรานต์ โรงเรียนเปิดเทอมและเข้าสู่ฤดูฝน จะพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเข้ารักษาในโรงพยาบาล 2,970 ราย เฉลี่ยวันละ 424 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบ 425 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 253 ราย และเสียชีวิต 42 ราย เฉลี่ยวันละ 6 ราย แนวโน้มผู้เสียชีวิตลดลงจากสัปดาห์ก่อนที่มี 60 กว่าราย แต่ปัจจัยเสี่ยงของผู้เสียชีวิตยังเหมือนเดิม คือ เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ได้รับเชื้อจากคนในครอบครัวที่มีกิจกรรมนอกบ้าน ที่สำคัญเกือบทั้งหมดไม่ได้ฉีดวัคซีน ฉีดไม่ครบตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
“การฉีดวัคซีน ถือเป็นมาตรการเร่งด่วนสำหรับผู้สูงอายุ เพราะช่วยลดการป่วยและเสียชีวิตได้ ขอให้ลูกหลานพาผู้สูงอายุในบ้านไปฉีดวัคซีน ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์การฉีดวัคซีนประจำปี ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา และหากลูกหลานป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ต้องไม่เข้าไปสัมผัสใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือหากจำเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยลดความเสี่ยงการนำเชื้อไปแพร่ให้ผู้สูงอายุ” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า ขณะนี้ในเขต กทม.และปริมณฑล พบมีการระบาดมากกว่าพื้นที่อื่น จึงให้กรมควบคุมโรคในฐานะเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือประสานประธานคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม./จังหวัด ให้ประสานความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำรวจผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือยังไม่ได้ฉีดวัคซีนประจำปี เพื่อเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้มากขึ้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขยินดีสนับสนุนเวชภัณฑ์และข้อมูลต่างๆ ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XBB.1.16 ซึ่งความสามารถในการแพร่ระบาดและความรุนแรงไม่ได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม เตียงรองรับผู้ป่วยภาพรวมทั้งประเทศและกทม. ยังคงเพียงพอ อัตราครองเตียงอยู่ที่ 22% ขณะที่ยาที่ใช้ในการรักษามีเพียงพอเช่นกัน
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคได้รายงานสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ต้นปี 2566 พบผู้ป่วยจำนวน 16,650 ราย เสียชีวิต 17 ราย คาดว่าเดือนหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงมากขึ้น เนื่องจากการสำรวจลูกน้ำยุงลายที่เป็นพาหะนำโรคตามบ้านเรือนประชาชนและสถานที่ต่างๆ พบว่าบางแห่งดัชนีลูกน้ำยุงลายสูงกว่า 50% เช่น โรงเรียน วัด สถานที่ราชการ และโรงงาน ซึ่งจะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับเรื่องการสำรวจและเร่งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อไป ทั้งนี้ อาการของโรคไข้เลือดออกในช่วงแรกจะคล้ายคลึงกับโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่นๆ เช่น โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ ทำให้วินิจฉัยได้ยาก ได้กำชับให้บุคลากรทางการแพทย์ตระหนักและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด สำหรับผู้ป่วย หากมีอาการไข้ สงสัยโรคไข้เลือดออก ขอให้ปรึกษาแพทย์
***************************************** 29 พฤษภาคม 2566
*****************************************