กรมการแพทย์แผนไทยฯ เดินหน้าควบคุมร้านกัญชาตามกฎหมาย พร้อมเผยกรณี “ชูวิทย์” ส่งจดหมายขออภัย
- สำนักสารนิเทศ
- 59 View
- อ่านต่อ
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เปิดเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เน้น 9 มาตรการสำคัญ เพื่อปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่หวาน มัน เค็มเกินมาตรฐาน หวังลดโรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
วันนี้ (วันที่ 23 พฤษภาคม 2566) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยในการเป็นประธานการประชาพิจารณ์ (ร่าง) พระราชบัญญัติควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก ผ่านระบบออนไลน์ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานครว่า จากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ปี 2563 พบว่าใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมา เด็กไทยมีภาวะอ้วนขึ้นมากกว่า 2 เท่า โดยเด็กอายุ 1-5 ปี มีภาวะอ้วนและเริ่มอ้วน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 11.4 เด็กอายุ 5-14 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า จากร้อยละ 5.8 เป็นร้อยละ 13.9 และเด็กอายุ 15-18 ปี มีภาวะอ้วน ร้อยละ 13.2 ซึ่งสหพันธ์โรคอ้วนโลก (World Obesity Federations หรือ WOF) คาดการณ์ว่า ปี 2573 ประชาชนไทยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี จะมีภาวะอ้วนและน้ำหนักเกินสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนและโรค NCDs และเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในอนาคต
“ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ดำเนินมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาโรคอ้วนในเด็กมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมาตรการควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก เป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญเพื่อยุติโรคอ้วนในเด็กไทยตามตัวชี้วัดระดับโลก (Ending childhood obesity: ECHO) ที่ยังคงอยู่ระหว่างการปรับปรุง แก้ไขให้ครอบคลุมในทุกด้าน ทั้งด้านเทคนิคการตลาด กลไกการบังคับใช้ กำกับ ติดตาม และการประเมินผลให้เป็นรูปธรรมตามข้อเสนอแนะขององค์การอนามัยโลก” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย ประธานการรับฟังความคิดเห็นการประชาพิจารณ์กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมอนามัยจึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการพัฒนา และผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก มาตั้งแต่ปี 2564 เพื่อปกป้องเด็กไทยจากการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ หรืออาหารและเครื่องดื่มที่มีปริมาณไขมัน น้ำตาล โซเดียมเกินเกณฑ์มาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรม โดย (ร่าง) พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก ประกอบด้วย 9 มาตรการหลัก คือ 1) ฉลาก ต้องไม่ใช้เทคนิคดึงดูดเด็ก (เช่น การ์ตูน ดารา) และควรแสดงสัญลักษณ์กำกับที่เข้าใจง่าย 2) ควบคุมการแสดงความคุ้มค่าด้านราคา 3) ควบคุมการจำหน่ายในสถานศึกษา ระดับต่ำกว่าอุดมศึกษา 4) ควบคุม การโฆษณา ทุกช่องทาง 5) ควบคุม การแลก แจก แถม ให้ ชิงโชค ชิงรางวัล ส่งฟรี 6) การมอบหรือให้ สิ่งของ อุปกรณ์ ของใช้ หรืองบประมาณในการจัดกิจกรรมใดจะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก 7) การบริจาค อาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในสถานศึกษาและสถานที่ศูนย์รวมของเด็ก 8) การจัดตั้งกลุ่ม ชมรม ชุมชนออนไลน์ จะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก และ 9) การติดต่อ ชักชวน หรือจูงใจเด็ก ทั้งทางตรงและทางอ้อมจะต้องไม่เชื่อมโยงถึงอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็ก
“ทั้งนี้ การประชาพิจารณ์จะเป็นเครื่องมือในการรับฟังความเห็นจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และภาควิชาการที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานเข้าร่วมทั้งสิ้น 172 หน่วยงาน เพื่อให้ พ.ร.บ.ควบคุมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยจะนำความเห็นของทุกภาคส่วน มาปรับใช้และพัฒนาร่างกฎหมายฉบับนี้ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาโรคอ้วนและโรค NCDs ในเด็กซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถร่วมประชาพิจารณ์ได้ที่ https://moph.cc/PHFOROGN สำหรับประชาชน ได้ที่https://moph.cc/PHFORALL จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 และสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักโภชนาการ กรมอนามัย โทร. 02 590 4941” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 23 พฤษภาคม 2566