สูตินรีแพทย์เตือนกินลูกปลาช่อนดิบเสี่ยงอันตราย ไม่ช่วยสมานแผลผ่าคลอด
- กรมการแพทย์
- 41 View
- อ่านต่อ
กรม สบส. เพิ่มทักษะป้องกันอันตรายจากสารพิษ ส่งต่อชุดความรู้การป้องกันตัวจากสารเคมี ผ่าน “SMART อสม.”
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ส่งต่อชุดความรู้ในการป้องกันกันตัวเมื่อสัมผัส หรือได้รับสารเคมีอันตรายอย่างไซยาไนด์ แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ผ่านแอปพลิเคชัน “SMART อสม.” เพิ่มทักษะป้องกันเหตุอันตราย และช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีอันตราย
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า จากกรณี ที่สื่อมวลชนมีการเผยแพร่ข้อมูลการพบผู้เสียชีวิตหลายรายจากสารเคมีอันตรายอย่างไซยาไนด์ (Cyanide) ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในกระบวนการอุตสาหกรรม เช่น การสกัดแร่ ผลิตกระดาษ สิ่งทอ และพลาสติก ฯลฯ โดย ไซยาไนด์เป็นสารพิษที่มีฤทธิ์ร้ายแรงต่อร่างกายมนุษย์ จนนำไปสู่การเสียชีวิตได้ ซึ่ง ณ ปัจจุบันประชาชนหลายคนอาจมองว่าตนคงไม่มีโอกาสสัมผัสหรือได้รับสารเคมีอันตรายอย่างไซยาไนด์เป็นแน่ เนื่องด้วย ตนไม่ได้อยู่ในกระบวนการอุตสาหกรรม แต่ต้องขอชี้แจงว่าไซยาไนด์นั้น มิได้พบเฉพาะในกระบวนการอุตสาหกรรมเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถพบได้ในธรรมชาติจากพืชบางชนิด อาทิ มันสำปะหลังดิบ หน่อไม้สด หรือถั่วบางชนิด และหากมีการปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากก็อาจเป็นอันตรายได้ ดังนั้น กรม สบส.จึงได้มีการพัฒนาชุดความรู้สำหรับการสื่อสารให้ความรู้ อสม. เรื่อง ไซยาไนด์ รู้ไว้ปลอดภัยกว่าเผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชัน “SMART อสม.” เพื่อให้ อสม.ซึ่งเป็นหมอคนที่ 1 ที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน ได้นำไปเพิ่มพูนทักษะในการป้องกัน ให้การช่วยเหลือในเบื้องต้นหากพบหรือสงสัยว่าประชาชนได้รับสารเคมีอันตรายอย่างไซยาไนด์
นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวว่า ชุดความรู้สำหรับการสื่อสารให้ความรู้ อสม. เรื่อง ไซยาไนด์ รู้ไว้ปลอดภัยกว่าจะมุ่งเน้นการให้ความรู้แก่พี่น้อง อสม. ถึงลักษณะของไซยาไนด์ อาการ ความเสี่ยงในการรับสารพิษ ผ่านการกินอาหารตามธรรมชาติ หรือการสัมผัสโดยตรง และวิธีปฏิบัติตนเมื่อได้รับสารพิษ อาทิ หากผิวหนังสัมผัสกับไซยาไนด์ ให้ถอดเสื้อผ้าที่ปนเปื้อนออก และให้ทำความสะอาดร่างกายด้วยน้ำและสบู่เพื่อลดปริมาณสารพิษให้ได้มากที่สุด แต่หากเป็นการสูดดมอากาศที่มีไซยาไนด์ปนเปื้อน ควรก้มต่ำลงบนพื้นและออกจากพื้นที่บริเวณนั้นโดยเร็ว เป็นต้น ซึ่งการเผยแพร่สื่อความรู้ผ่านแอปพลิเคชัน “SMART อสม.” ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกสถานที่ผ่านสมาร์ทโฟน จะทำให้ อสม.สามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ และนำไปเผยแพร่บอกต่อชาวชุมชนเพื่อป้องกันตนเองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งแอปพลิเคชัน “สมาร์ท อสม.” นอกจากจะมีการเผยแพร่ชุดความรู้ในการดูแล ป้องกันตนเองจากภัยสุขภาพแล้ว ยังมีข่าวสารการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารโดยตรงจากกระทรวงสาธารณสุข ระบบส่งรายงาน และระบบสะสมผลงาน อสม. เพื่อแลกรับสิทธิประโยชน์ผ่านแอปพลิเคชันอีกด้วย จึงขอเชิญชวนให้พี่น้อง อสม.ที่ยังไม่ได้ดาวน์โหลด “SMART อสม.” ร่วมดาวน์โหลดและลงทะเบียนเข้าใช้งาน เพื่อเข้าถึงข่าวสาร ความรู้ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ดียิ่งขึ้น
******************* 18 พฤษภาคม 2566