สาธารณสุข จัดประชุมใหญ่ผู้บริหาร อาจารย์พยาบาลในสังกัด และองค์กรที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ สรุปผลโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3,000 คน และปรับระบบการเรียนการสอน ชี้พยาบาลที่จบจากโครงการนี้จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน วันนี้ (9 ตุลาคม 2551) ที่โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กทม. นายวิชาญ มีนชัยนันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดสัมมนาผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารและอาจารย์วิทยาลัยพยาบาลในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก 25 จังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด กอ.รมน. ภาคบัญชาการทหาร สภาการพยาบาล ผู้แทนจากสถาบันการศึกษา องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรสาธารณสุข จำนวน 500 คน เพื่อสรุปผลและปรับระบบการเรียนการสอนนักศึกษาพยาบาล ในโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 3,000 คน โดยในวันนี้นายแพทย์มงคล ณ สงขลา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มโครงการนี้ ได้บรรยายพิเศษ“มุมมองจากอดีตสู่อนาคตการผลิตพยาบาลเพิ่มเสริมสร้างสันติสุข” ด้วย นายวิชาญ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความขาดแคลนกำลังคนมากกว่าพื้นที่อื่น จากปัญหาความไม่สงบที่ยังเกิดขึ้นอยู่เนือง ๆ ทำให้มีภาระงานมากและเสี่ยงภัยสูง ส่งผลให้มีการย้ายออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจล่าสุด พบว่า มีพยาบาลวิชาชีพปฏิบัติงานเพียง 2,807 คนเท่านั้น หรือประมาณร้อยละ 50 พยาบาลต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ขอชื่นชมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ผลักดันให้เกิดโครงการผลิตพยาบาลวิชาชีพเพิ่มจำนวน 3,000 คน เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดมาก เพราะรับเด็กจากพื้นที่เข้าเรียนโดยตรง มีความเข้าใจในภาษา วัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อน จะเป็นการแก้ปัญหาการขาดกำลังคนที่ยั่งยืน จากการประเมินผลพบว่า มีความก้าวหน้าเป็นอย่างดี การเรียนของเด็กส่วนใหญ่อยู่ในเกณฑ์ปานกลาง ขณะนี้กำลังศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2 ทุกคนจะจบภายใน 4 ปี และทำงานใน พ.ศ. 2554 แน่นอน ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมตำแหน่งพร้อมบรรจุเป็นข้าราชการไว้ทั้งหมดแล้ว ด้านนายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เนื่องจากนักศึกษาในโครงการนี้มีความแตกต่างจากรุ่นปกติ เช่น ครึ่งหนึ่งอายุเกิน 20 ปี บางคนจบปริญญาตรีแล้ว และส่วนใหญ่ร้อยละ 80 นับถือศาสนาอิสลาม กระทรวงสาธารณสุขได้ให้วิทยาลัยพยาบาล 25 แห่ง ศึกษาวิจัยทัศนคติด้านวิชาชีพ ความเป็นอยู่การปรับตัวเข้ากับสังคม วัฒนธรรมในพื้นที่ที่ศึกษาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาพัฒนาระบบการเรียนการสอน การจัดสวัสดิการที่เหมาะสมให้นักศึกษาสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่และมีความสุข ผลการศึกษาพบว่าอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ นักศึกษาสามารถปรับตัวได้ดี และพร้อมที่จะเป็นพยาบาลกลับไปทำงานพัฒนาบ้านเกิด ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ด้วยความภาคภูมิใจ ส่วนนักศึกษาที่มีปัญหาด้านการเงินก็ได้จัดหาแหล่งทุนช่วยเหลือ ได้แก่ ทุนพระองค์เจ้าทีปังกรรัศมีโชติ จำนวน 99 ทุน ทุนละ 20,000 บาทจนจบการศึกษา ทุนสมาคมแม่บ้านสาธารณสุข จำนวน 80 ทุน ทุนละ 10,000 บาท รวมทั้งทุนมูลนิธิท่านผู้หญิงดุษฎีมาลาและมูลนิธิเพื่อคุณธรรม รวม 50 ทุน ทุนละ 12,000 บาทจนจบการศึกษา ที่ได้มอบแก่นักศึกษาในวันนี้ นายแพทย์ปราชญ์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้นักศึกษาในโครงการฯ กำลังเริ่มฝึกภาคปฏิบัติในสถานพยาบาล ลงถึงสถานีอนามัยทั่วประเทศ การฝึกงานจะเข้มข้นขึ้นในปีที่ 3 และ 4 โดยจะมีครูพี่เลี้ยงติดตามดูแลการฝึกงานอย่างใกล้ชิดเหมือนนักศึกษารุ่นปกติ ******************* 9 ตุลาคม 2551


   
   


View 9    09/10/2551   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ