สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 136 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมวิชาการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการรักษา ส่งเสริม ฟื้นฟู ป้องกันโรค คุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขในเรือนจำ สถานพินิจ ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ให้ผู้ถูกคุมขังสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน เท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน
วันนี้ (11 พฤษภาคม 2566) ที่ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ที่ถูกควบคุมโดยหน่วยงานของรัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านเรือนจำ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป/โรงพยาบาลชุมชนแม่ข่าย กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และกรมวิชาการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 400 คนร่วมประชุม
นายแพทย์ณรงค์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำ โดยบูรณาการทำงานร่วมกับ กรมราชทัณฑ์ และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาระบบบริการสุขภาพของผู้ต้องขังในเรือนจำให้ครอบคลุมทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันและควบคุมโรค การรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสมรรถภาพ และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขให้เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2558 เรื่องสิทธิของผู้ต้องขังและสิทธิในการรับบริการสาธารณสุขจากรัฐ กรณีการเข้าถึงสิทธิในการได้รับบริการสาธารณสุขของผู้ต้องขัง และได้ขยายการบริการไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานพินิจ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนด้วย
นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ ปี 2565 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ 269,267 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 79 เป็นนักโทษเด็ดขาด รวมทั้งมีผู้ต้องขังเข้าใหม่มากกว่าผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวหรือพ้นโทษ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข จะเป็นหน่วยให้การดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต แก่ผู้ต้องขังตั้งแต่แรกรับ การจัดประชุมวิชาการฯ ครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังจากทุกหน่วยงานจะได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุข และเกิดเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในเรือนจำ สถานพินิจ ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชน ที่มีประสิทธิภาพต่อไป
****************************** 11 พฤษภาคม 2566