สธ. แจง “ต่างด้าว” เข้ารักษามีค่าใช้จ่าย ยกเว้น 3 กลุ่ม “รอสัญชาติไทย-อยู่ในประกันสังคม-ซื้อประกันสุขภาพ” มีกองทุนดูแล
- สำนักสารนิเทศ
- 130 View
- อ่านต่อ
กระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐฯ พร้อมกระชับความสัมพันธ์ในการพัฒนาวิจัยด้านพันธุกรรม มุ่งเป้าพัฒนาเครือข่ายวิจัยด้านพันธุกรรมทางการแพทย์ในโรงพยาบาล และวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อนำข้อมูลพันธุกรรมจากงานวิจัยคืนสู่ผู้ป่วยในอนาคต
นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ได้นำคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เยี่ยมชมสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา พร้อมหารือและกระชับความสัมพันธ์ โดยมี Eric Green ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และคณะ ให้การต้อนรับ ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้รายงานข้อมูลความก้าวหน้าของประเทศไทย ตามแผนปฏิบัติการบูรณาการจีโนมิกส์ประเทศไทย พ.ศ. 2563 - 2568 โดยมีหน่วยงาน 17 แห่ง ถอดรหัสพันธุกรรมคนไทยที่ป่วยเป็นโรคต่างๆ 50,000 คน เน้นโรคที่พบได้ยาก (Rare disease) และโรคมะเร็ง มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจในโรงพยาบาล 36 แห่ง และมีการจัดตั้งคลินิกพันธุกรรมเกี่ยวกับมะเร็ง (Cancer Genetics Clinic) พร้อมทั้งผลักดันสิทธิ์บางส่วนเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เช่น การตรวจยีนโรคมะเร็งครอบครัว โดยยังขาดแพทย์เวชพันธุศาสตร์ นักชีวสารสนเทศ นักวิจัย ที่ต้องพัฒนาให้ครบ 725 คน ภายในปี 2567
สำหรับความร่วมมือในอนาคต จะมีการพัฒนาเครือข่ายวิจัยด้านพันธุกรรมทางการแพทย์ (Genomic Medicine) ในโรงพยาบาล การวิจัยด้านเภสัชศาสตร์ เพื่อนำข้อมูลพันธุกรรมจากโครงการวิจัย คืนกลับให้ผู้ป่วย และร่วมพัฒนาระบบการแปลผลข้อมูลพันธุกรรม โดยคาดว่าจะมีการฝึกอบรมการแปรผลข้อมูลพันธุกรรมในประเทศไทย และสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา มีแผนจะเข้าร่วมการประชุมมนุษย์พันธุศาสตร์ประจำปีที่จะจัดขึ้นในไทยด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยได้แสดงความจำนงจะให้มีการพัฒนาแพทย์เวชพันธุศาสตร์เพิ่มขึ้น โดยจะขอรับการสนับสนุนทุนในการพัฒนาแพทย์เวชพันธุศาสตร์ จากสถาบันวิจัยจีโนมมนุษย์แห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ต่อไป
******************************* 30 เมษายน 2566