ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เผย คณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เตรียมเสนอใช้หลัก “3ส.3อ.1น.” สวดมนต์ สมาธิ สนทนาธรรม ควบคู่กับ อาหาร ออกกำลังกาย อารมณ์ และนาฬิกาชีวิต ช่วยลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง พร้อมพัฒนาแอปพลิเคชัน “ไทยสุข” เพิ่มการเข้าถึงทุกกลุ่มวัย และผลักดันสู่นโยบายชาติ โดยผลการใช้ในผู้ป่วยเบาหวาน 45 ราย พบลดยาได้ 30 ราย อีก 15 ราย โรคสงบไม่ต้องกินยา

          นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพดีวิถีใหม่ วิถีธรรม วิถีไทย วิถีเศรษฐกิจพอเพียง เห็นตรงกันว่าโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) เป็นปัญหาสำคัญของระบบสาธารณสุขและเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของการเสียชีวิตของคนไทย โดยข้อมูลจากกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ปี 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวาน 16,008 ราย และจากโรคความดันโลหิตสูง 9,444 ราย ซึ่งกลุ่มโรคนี้ส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต ที่ประชุมฯ จึงมีมติให้ใช้หลัก “3ส.3อ.1น.” คือ 3 ส. : สวดมนต์, สมาธิ, สนทนาธรรม 3อ. : อาหาร, ออกกำลังกาย, อารมณ์ และ 1 น. : นาฬิกาชีวิต ซึ่งเป็นการนำหลักทำงานของอวัยวะภายในร่างกาย บูรณาการร่วมกับหลักศาสนา หลักการแพทย์แผนปัจจุบัน หลักการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ภูมิปัญญาและวิถีความเป็นไทย ในการปรับแก้พฤติกรรมสุขภาพ ส่งผลต่อการป้องกันและควบคุมโรค NCDs ตั้งเป้าลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ ลดภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยมีความสุขในการดำเนินชีวิต ลดความแออัดของโรงพยาบาล และลดค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งระดับบุคคล ชุมชน และประเทศ โดยจะผลักดันเข้าสู่แผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ของกระทรวง ในสาขาระบบบริการปฐมภูมิและสุขภาพอำเภอ และนโยบายชาติ เพื่อให้มีการขยายผลการปฏิบัติให้ครอบคลุม

          นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “ไทยสุข” เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดป่วยลดเสี่ยง NCDs ผ่านการบันทึกกิจวัตรประจำวันตามนาฬิกาชีวิต เช่น การดื่มน้ำ การรับประทานอาหาร การนอนหลับ การออกกำลังกายและค่าการตรวจคัดกรองสุขภาพต่างๆ รวมถึงการประเมินและติดตามผลซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการดูแลสุขภาพในทุกกลุ่มวัยมากขึ้น

          ทั้งนี้ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชกระนวน จังหวัดขอนแก่น ได้นำหลัก 3ส. 3อ. 1น. มาอบรมและฝึกปฏิบัติในผู้ป่วยเบาหวาน 45 คน มีการติดตามและให้คำแนะนำทางไลน์เป็นระยะโดยมีพี่เลี้ยง ได้แก่ อสม. และเจ้าหน้าที่ ร่วมกับการเฝ้าระวังระดับน้ำตาล สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ใช้เวลา 3 - 6 เดือน พบว่าผู้ป่วยทุกคนน้ำหนักตัวและรอบเอวลดลง (มากที่สุด 27 กิโลกรัม น้อยที่สุด 3 กิโลกรัม) ลดยาเบาหวานได้ 30 คน คิดเป็น 66.6% เข้าสู่ภาวะเบากวานสงบ (DM Remission) หยุดยาได้ 15 คน คิดเป็น 33.3%

******************************** 23 เมษายน 2566



   
   


View 20041    23/04/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ