กรมควบคุมโรค ขอเผยแพร่ “พยากรณ์โรคและภัยสุขภาพรายสัปดาห์”

ฉบับที่ 13/2566 ประจำสัปดาห์ที่ 14 (วันที่ 9 – 15 เมษายน 2566)

         “จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรคตั้งแต่ 1 ม.ค. ถึง 6 เม.ย. 2566 สถานการณ์โรคติดต่อนำโดยยุงลาย (ไข้เลือดออก, โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา) ข้อมูลจากระบบเฝ้าระวัง พบผู้ป่วย 1) โรคไข้เลือดออกสะสม 10,439 ราย เสียชีวิต 11 ราย จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงกว่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี อัตราป่วยสูงสุดพบในภาคใต้ (27.59 ต่อประชากรแสนคน) พบมากในกลุ่มอายุ 15-24 ปี (22.60%) 2)โรคไข้ปวดข้อยุงลาย มีผู้ป่วยสะสม 381 ราย จำนวนผู้ป่วยในระยะนี้สูงกว่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี และ สูงกว่าช่วงนี้ในปีที่ผ่านมาเป็น 4.65 เท่า โดยมีรายงานในทุกภูมิภาคของประเทศไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 45-54 ปี  (21.78 %) และ 3) โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มีผู้ป่วยสะสม 42 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุด คือ 45-54 ปี (26.19 %) จำนวนผู้ป่วยสูงกว่ามัธยฐานย้อนหลัง 3 ปี และสูงกว่าช่วง ม.ค.-มี.ค. ในปีที่ผ่านมาเป็น 8.40 เท่า      

         ในช่วงกลางเดือนเมษายนจะมีเทศกาลสงกรานต์ซึ่งจะมีการเดินทางของประชาชนเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการพยากรณ์อากาศยังพบว่าในช่วงเดือนเมษายน 2566 อาจพบพายุฤดูร้อนที่ทำให้มีฝนตกได้ในบางพื้นที่ซึ่งอาจทำให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้มากขึ้น ”

        “การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้จึงคาดว่าในระยะต่อไปจนถึงหลังสงกรานต์อาจพบแนวโน้มพบผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายทั้ง 3 โรคได้เพิ่มขึ้น และอาจพบในพื้นที่ใหม่ๆ โดยการนำเข้าจากผู้ป่วยที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่เกิดการระบาดอยู่เดิม      

          กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำประชาชนป้องกันการถูกยุงกัดด้วยการนอนกางมุ้งหรืออยู่ในห้องติดมุ้งลวด ใส่เสื้อผ้ามิดชิด ทาโลชั่นกันยุง ใช้ยาจุดกันยุง พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยการปฏิบัติตามหลัก  “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” ได้แก่ 1) เก็บบ้านให้ปลอดโปร่งไม่ให้ยุงลายเกาะพัก จัดเก็บเสื้อผ้าใส่ตู้ให้เป็นระเบียบ 2) เก็บขยะ เศษภาชนะไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ เช่น เศษภาชนะวัสดุที่ทิ้งกระจาย รอบๆ บ้าน เช่น กะลา กระป๋อง ถุงพลาสติก ควรเก็บทิ้งหรือถมดินไม่ให้น้ำขัง ยางรถยนต์เก่า สามารถดัดแปลงนำมาใช้ประโยชน์หรือขายให้สถานประกอบการ และสุดท้ายคือ 3) เก็บแหล่งน้ำ ปิดให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ไม่ให้ยุงลายวางไข่ หมั่นเปลี่ยนน้ำทุก 7 วัน เช่น แจกันดอกไม้สด แจกันหิ้งบูชาพระ ขวดเลี้ยงพลูด่าง ไม้ประดับ ใส่ทรายธรรมดาในจานรองกระถางต้นไม้ให้ดูดซับน้ำ 

         ทั้งนี้ ประชาชนควรสังเกตอาการของตนเองและคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน ไข้นานเกินกว่า 2 วัน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย เบื่ออาหาร หน้าตาแดง อาจมีผื่นขึ้นที่ผิวหนังตามแขน ขาข้อพับ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม และข้อเน้นย้ำว่าไม่ซื้อยากินเอง เนื่องจากยาลดไข้บางประเภทอาจทำให้มีอาการรุนแรงและเลือดออกมากขึ้น รักษายากขึ้นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ สำหรับร้านขายยาและคลินิก ควรแนะนำให้ผู้ป่วยสงสัยโรคไข้เลือดออก ให้ไปรักษาที่โรงพยาบาล หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”

                                                                    *******************************************************

ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 11 เมษายน 2566

 



   
   


View 13371    11/04/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ