กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี จัดประชุมวิชาการ ครั้งที่ 33 ประจำปี 2566 ในหัวข้อ "72nd Anniversary of Rajavithi Hospital : The journey of success" ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2566 เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข นักวิชาการ นักวิจัย สหวิชาชีพ จากภายในและภายนอกโรงพยาบาล รวมถึงระดับนานาชาติได้ร่วมเรียนรู้ ถ่ายทอดประสบการณ์ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายวิชาการ สอดคล้องกับความเป็นสถาบันชั้นนำด้านการแพทย์ของประเทศ ตลอดจนเปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ผลงานวิชาการสู่สาธารณะ สร้างองค์ความรู้ใหม่ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมต่อไป

นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันระบบสาธารณสุขของประเทศไทยได้พัฒนาก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จะเห็นได้จากอัตราการเสียชีวิตของประชาชนลดน้อยลง ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น สถานพยาบาลในประเทศมีเพิ่มมากขึ้น ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก โรงพยาบาลชุมชน กระทั่งโรงพยาบาลเอกชนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ทำให้ประชาชนมีทางเลือกในการเข้ารับการรักษาที่มากขึ้นตามความเหมาะสมของตนเอง โดยระบบสุขภาพของประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน เทคโนโลยีที่นำมาใช้มีมาตรฐานทัดเทียมกับนานาประเทศ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาความรู้อย่างสม่ำเสมอทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ สอดคล้องกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข (ปี 2560-2579) ประกอบกับกรมการแพทย์มีนโยบายกําหนดให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางแห่งความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Medical Hub) แห่งอาเซียน โดยกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายการดําเนินงานที่ชัดเจน สอดคล้องกับแผนงานที่เกี่ยวข้องในด้านต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับโรงพยาบาลภายในสังกัด รวมถึงการพัฒนาเปลี่ยนแปลงของโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลตติยภูมิในสังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ให้มีความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ (Medical Excellence) ที่มีบทบาทสำคัญระดับประเทศ (National Significance) และสามารถพัฒนาเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability Development) ในอนาคต เพื่อรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในระบบสุขภาพด้านต่างๆ และยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ให้เป็นเลิศและมีความสามารถแข่งขันในระดับอาเซียนได้ สอดคล้องกับพันธกิจกรมการแพทย์ ในการสร้างและถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่สมคุณค่า (Appropriate Medical Technology) เสริมสร้างการมีส่วนร่วม (Co-Creation) ทางวิชาการและบริการทางการแพทย์ในทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาการแพทย์ของประเทศสู่มาตรฐานสากล

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เกิดโรคอุบัติใหม่ขึ้น ทั้งโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และโรคฝีดาษวานร การสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพ เพื่อให้ดูแลรักษาผู้ป่วยได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโรคอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ซึ่งการประชุมวิชาการเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริม พัฒนา และกระตุ้นให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขาวิชาชีพได้มีโอกาสในการนำองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เผยแพร่สู่เวทีสาธารณะ รวมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และต่างประเทศ ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น และประสบการณ์ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้ นวัตกรรมที่ทันสมัยและเป็นประโยชน์ในการเพิ่มคุณภาพระบบบริการและการดูแลรักษาผู้ป่วย อันจะนำไปสู่การพัฒนาและการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายด้านวิชาการ โดยในปีนี้มีการเสวนาเชิงวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ความก้าวหน้าของสหวิชาชีพต่างๆ ในหัวข้อที่น่าสนใจ อาทิ นโยบายและทิศทางกรมการแพทย์สู่อนาคต , ถอดบทเรียนการบริหารเครื่องมือแพทย์ ผ่านวิกฤตโควิด-19 สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน , แนวทางการดูแลรักษาโรคกรดไหลย้อนอย่างครบวงจร , ยุคใหม่ในการผ่าตัดรักษามะเร็ง โดยการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์โรงพยาบาลราชวิถี , ความจำเป็นเพื่อใช้งานกับพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กที่ใส่ประสาทหูเทียม , การใช้เทคโนโลยีดิจิดัลในการให้บริการทางเภสัชกรรม และการเตรียมความพร้อมของห้องปฏิบัติการ สู่มาตรฐาน ISO 15189 & 15190 เป็นต้น

 

นายแพทย์ทัศนชาติ จิตรีธาตุ ประธานคณะกรรมการจัดประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถี ครั้งที่ 33 ประจำปี 2566 กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการจัดประชุมวิชาการประจำปี โรงพยาบาลราชวิถี ที่ผ่านมาระหว่างปี พ.ศ. 2562 - 2565 มีการบรรยายวิชาการในรูปแบบ Symposium และ Lecture มากกว่าปีละ 40 เรื่อง รวมทั้งการสร้างภาคีเครือข่ายลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับสถาบันต่างๆ ทั้งในประเทศ เช่น สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โรงพยาบาลสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ ศูนย์การแพทย์พัฒนา บริษัทบ้านบึง เป็นต้น และต่างประเทศ ได้แก่ Severance Hospital, Yonsei University Health System ประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น นอกจากนี้ยังผลักดันให้การจัดประชุมวิชาการโรงพยาบาลราชวิถีมีความเป็นสากลมากขึ้น โดยมีวิทยากรจากต่างประเทศตอบรับเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นประจำทุกปี ทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เวียดนาม จีน อิสราเอล เป็นต้น และยังมีการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งจากบุคลากรภายในประเทศและต่างประเทศ ในรูปแบบ Poster Presentation การประกวดผลงานวิจัย Oral Presentation สำหรับแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด การประกวดผลงานวิจัยสำหรับพยาบาล การจัดนิทรรศการแสดงผลงานเด่น (Showcase) โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมประชุมวิชาการ มากกว่าปีละ 2,500 คน

 

************************************************

 

#กรมการแพทย์ #โรงพยาบาลราชวิถี #ประชุมวิชาการ ครั้งที่ 33

 

 - ขอขอบคุณ -
            4 เมษายน 2566



   


View 314    04/04/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ