ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชื่นชมโรงพยาบาลบ้านตาก และโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก พัฒนาโรงพยาบาลเป็น Smart and Modernize hospital ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการบริหารจัดการ
ลดภาระผู้ปฏิบัติงาน เพิ่มความรวดเร็วการบริการ ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทันสมัย พัฒนาบริการที่สอดรับกับบริบทของพื้นที่ และใช้สมุนไพรและบริการสุขภาพสร้างรายได้ให้ชุมชนและโรงพยาบาล

          วันนี้ (26 มีนาคม 2566) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหาร ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่โรงพยาบาลบ้านตาก และโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก พบมีการพัฒนาโรงพยาบาลตามนโยบาย EMS (Environment, Modernization, Smart Service) โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการ เป็น Smart and Modernize hospital ทำให้สะดวก รวดเร็ว ลดความแออัดและสร้างความประทับใจให้กับผู้รับบริการ และยังพัฒนาระบบการส่งต่อทางอากาศ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าเขา การคมนาคมยากลำบาก รวมทั้งใช้จุดแข็งของพืชสมุนไพรพื้นถิ่นและการบริการด้านส่งเสริมสุขภาพ มาช่วยสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนและสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นด้วย

          พญ.ธัญญารัตน์ สิทธิวงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก กล่าวว่า โรงพยาบาลผ่านเกณฑ์การพัฒนาตามนโยบาย EMS ในระดับ The Best ได้รับคำชื่นชมจากผู้รับบริการอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาที่โดดเด่น อาทิ การติดตั้ง Solar Rooftop ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้กว่า 2.2 ล้านบาท การพัฒนาความทันสมัย 4 ด้าน ได้แก่ 1) Smart OPD เชื่อมต่อทุกแผนกเรียกดูข้อมูลการรักษาได้อย่างรวดเร็ว เป็น OPD paperless 100%, แพลตฟอร์ม TAK-D บริหารจัดการศูนย์ให้บริการคนพิการแบบเบ็ดเสร็จ 2) Smart ER ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินอัจฉริยะ ดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉินอย่างรวดเร็ว แพทย์ติดตามอาการผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดด้วยเครื่องติดตามการทำงานของสัญญาณชีพระบบรวมศูนย์
3) Smart IPD ยกระดับความปลอดภัยด้วยเครื่องติดตามการทำงานของสัญญาณชีพระบบรวมศูนย์ บันทึกเวชระเบียนด้วยระบบดิจิทัล เป็น IPD paperless เป็นโรงพยาบาลแรกของจังหวัดตาก และ 4) Smart Health Promotion Clinic บริการด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เชื่อมต่อระบบสารสนเทศโรงพยาบาลแบบ real-time, ถ่ายภาพจอประสาทตาระบบดิจิทัลแบบไม่ต้องขยายม่านตาทั้งชนิดมือถือและตั้งโต๊ะ อ่านผลด้วย AI เพิ่มความแม่นยำและความรวดเร็วในการตรวจ นอกจากนี้ ยังร่วมกับสภาเกษตรกรจังหวัดตาก สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตพืชสมุนไพรไปสู่ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่มีมูลค่าสูง ด้วยรถแปรรูปสมุนไพรเคลื่อนที่แปรรูปฟ้าทะลายโจร และออกแบบให้รองรับกระบวนการแปรรูปและอบแห้งพริกกระเหรี่ยงเป็นพริกป่น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพริกกะเหรี่ยงซึ่งเป็นพืชอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดตาก ภายใต้แนวคิด “ปลูกพืชอัตลักษณ์ ทำน้อยได้มาก ผลิตปลอดภัย ขายได้ยั่งยืน”

          ด้าน นพ.บรรเจิด นนทสูติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช กล่าวว่า โรงพยาบาลเปิดให้บริการ Wellness center เมื่อปี 2564 โดยปรับปรุงสถานที่ให้สวยงาม พัฒนาระบบบริการที่ทันสมัย สะดวกรวดเร็ว สามารถจองแพคเกจสุขภาพได้ทางโทรศัพท์และระบบไลน์ เน้นการดูแลหลังการตรวจ ซึ่งพบว่า มีผู้รับบริการสิทธิ์ชำระเงินเองเพิ่มขึ้นจาก 21.8% มูลค่ารายได้ 2.9 ล้านบาท ในปี 2563 เป็น 56% มูลค่ารายได้ 5.2 ล้านบาท ในปี 2565 และยังมีระบบ Drive thru ตรวจสุขภาพโดยไม่ต้องเข้าโรงพยาบาล ที่สำคัญคือ ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน Sky doctor ซึ่งพัฒนามาต่อเนื่องถึง 10 ปี ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางและผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยลำเลียงผู้ป่วยมาแล้ว 87 ราย มีอัตราการเสียชีวิตที่ 24 ชั่วโมง ร้อยละ 5.7 อยู่ในเกณฑ์คุณภาพ กลุ่มผู้ป่วยที่ถูกลำเลียง 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มผู้ป่วยเด็กวิกฤต (25.8%) กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินทางสูตินรีเวชกรรม (19.7%) และกลุ่มผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต (18.3%) 

           ทั้งนี้ มีแผนพัฒนาเป็นศูนย์กลางเชื่อมการบินระหว่างเขต 1,2 และ 3 เนื่องจากจังหวัดตาก มีเขตติดต่อจังหวัดอื่น ๆ มากสุดในประเทศถึง 9 จังหวัด โดยเตรียมเพิ่มเส้นทางการบินเชื่อมกับจังหวัดเพชรบูรณ์ กำแพงเพชร และนครสวรรค์ ให้สำเร็จในปี 2567 พร้อมทั้งจัดการเรียนการสอนด้านการลำเลียงผู้ป่วยด้วยอากาศยาน สำหรับนิสิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ผ่านโครงการ TSM sky doctor class และเข้าร่วมโครงการลานจอด ฮ. ต่อชีวิต สร้างลานจอดเฮลิคอปเตอร์ที่มีมาตรฐานสำหรับประชาชนในพื้นที่ เริ่มที่หมู่บ้านแม่เหว่ย ตำบลท่าสองยาง อำเภอท่าสองยาง และวางแผนสร้างลานต่อไปที่หมู่บ้านอูมฮวม ตำบลบ้านนา อำเภอสามเงา จังหวัดตาก

 ******************************************** 26 มีนาคม 2566



   
   


View 1004    26/03/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ