อย. ไทย ต้อนรับคณะผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตเภสัชภัณฑ์ของญี่ปุ่น (JPMA) ร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลการส่งเสริมผลิตภัณฑ์ยานวัตกรรม
- สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
- 10 View
- อ่านต่อ
เดือนมีนาคมของทุกปี เป็นเดือนที่ทั่วโลกร่วมรณรงค์ต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ แนะ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย เชิญชวนประชาชนตระหนักถึงการป้องกันโรค
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับสามในเพศชาย และอันดับสองในเพศหญิง (จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ) ที่น่ากังวลคืออัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ วันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 คน (ปีละ 5,476 คน) และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 คน (ปีละ 15,939 คน) ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีสาเหตุการเกิดโรคที่หลากหลาย แต่ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในปัจจุบันคือการรับประทานอาหาร โดยเฉพาะอาหารกลุ่มเนื้อแดง ได้แก่ เนื้อวัว เนื้อหมูที่ผ่านการแปรรูป หรือปรุงด้วยความร้อนสูงเป็นเวลานานเช่นการปิ้งย่างจนไหม้เกรียม และมีมันสูง รับประทานอาหารกากใยน้อย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ นอกจากนี้มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงยังเกิดในคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงจากการมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง คนที่เคยตรวจพบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่แบบอะดีโนมา หรือทำการรักษาโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
แพทย์หญิงหทัยวรรณ ม่วงตาด แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมมะเร็งระบบทางเดินอาหารและตับ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมีอุบัติการณ์เพิ่มสูงในกลุ่มอายุ 50 ปีขึ้นไป ดังนั้นการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งชนิดนี้ในช่วงอายุดังกล่าวจึงสามารถป้องกัน หรือช่วยให้ตรวจพบมะเร็งระยะเริ่มต้นได้มาก ปัจจุบันตรวจคัดกรองด้วยวิธีการตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (Fecal Immunochemical Test: FIT) เป็นวิธีการตรวจที่สะดวก ง่ายและปลอดภัย ประชาชนอายุ 50-70 ปี สามารถรับอุปกรณ์และน้ำยาเก็บตัวอย่างได้ที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อนำไปเก็บอุจจาระด้วยตนเองที่บ้าน แล้วนำส่งเจ้าหน้าที่เพื่อทำการวิเคราะห์ผล กรณีที่ได้รับผลผิดปกติผู้ป่วยจะได้รับการตรวจวินิจฉัยต่อด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เพิ่มเติม ส่วนในกลุ่มที่มีอาการผิดปกติ อาทิ ระบบขับถ่ายแปรปรวนเช่นท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายเป็นมูกเลือด เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ซีดเรื้อรัง ควรรีบเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยเพิ่มเติม
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงแบ่งการรักษาตามระยะการดำเนินโรค โดยในกลุ่มผู้ป่วยระยะเริ่มแรกนั้นสามารถทำการรักษาโดยการส่องกล้องทางเดินอาหารแบบตัดติ่งเนื้องอกแบบชิ้นเดียว ผู้ป่วยไม่มีแผลผ่าตัดทางหน้าท้อง ในกรณีที่มีการลุกลามมากขึ้นบางกรณีสามารถรักษาโดยการผ่าตัดส่องกล้องแบบแผลเล็กเพื่อทำการตัดลำไส้ใหญ่ไส้ตรงและต่อมน้ำเหลืองข้างเคียง และทำการตัดต่อลำไส้ใหญ่ซึ่งเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและเป็นมาตรฐาน ผู้ป่วยบางรายสามารถหลีกเลี่ยงการมีช่องถ่ายอุจจาระทางหน้าท้อง (ทวารเทียม) ถาวรได้ รวมถึงการรักษาร่วมได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง นำก่อนผ่าตัดหรือหลังผ่าตัด ซึ่งทำให้เพิ่มโอกาสการหายของโรคและลดอัตราการกลับเป็นซ้ำได้ ทั้งนี้แม้ตัวโรคมีการลุกลามหรือแพร่กระจายไป การรักษาโดยการให้ยาเคมีร่วมกับยาเคมีพุ่งเป้า หรือภูมิคุ้มกันบำบัดช่วยชะลอการดำเนินของโรค ผู้ป่วยสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีระดับหนึ่งได้ในระยะเวลานั้น
การดูแลร่างกายให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคมะเร็งที่ดีสามารถช่วยทำให้ห่างไกลจากมะเร็งได้ เริ่มที่การรับประทานอาหาร 5 หมู่ การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงอาหารเนื้อแดงแปรรูป ปิ้งย่างจนไหม้เกรียม แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน และทำให้มีสุขภาพแข็งแรงมากขึ้น จะช่วยให้ห่างไกลทั้งจากโรคร้ายนี้และโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอื่นๆ สามารถศึกษาข้อมูลข่าวสารโรคมะเร็งจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ส่งเสริมความรอบรู้สู้ภัยมะเร็ง http://allaboutcancer.nci.go.th/ เว็บไซต์ต่อต้านข่าวปลอมโรคมะเร็ง http://thaicancernews.nci.go.th/_v2/ และ Line : NCI รู้สู้มะเร็ง
……………………………………………
-ขอขอบคุณ-
17 มีนาคม 2566