คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ เห็นชอบตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพระบบการดูแลรักษาเอชไอวี กระตุ้นโรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่อง ด้าน สธ. ร่วมกับ สปสช. บรรจุชุดตรวจคัดกรองเอชไอวีด้วยตัวเอง และการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในชุดสิทธิประโยชน์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการรักษาที่รวดเร็ว

          วันนี้ (15 มีนาคม 2566) ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ (คช.ปอ.) ครั้งที่ 1/2566 โดยมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมประชุม และกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้มีการเพิ่มประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ 1.การบริการชุดตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการส่งเสริมการตรวจคัดกรองที่เข้าถึงง่าย เป็นไปโดยสมัครใจและเป็นความลับ ช่วยส่งเสริมให้การตรวจเป็นเรื่องปกติ ส่งผลให้ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงได้รับการตรวจเพิ่มขึ้น และผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงระบบบริการวินิจฉัยและรักษาเอชไอวีล่าช้า เห็นได้จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2565 ที่พบว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ถูกวินิจฉัยรายใหม่ จำนวน 17,809 คน มีถึงร้อยละ 52 ที่รู้สถานะการติดเชื้อช้า โดยถูกวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวีเมื่อมีระดับภูมิคุ้มกันที่ต่ำมาก (จำนวนเม็ดเลือดขาวซีดี 4 น้อยกว่า 200) หรือมีอาการป่วยจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสแล้ว

          2.การตรวจคัดกรองโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในประชาชนทั่วไปที่เกิดก่อน พ.ศ. 2535 โดยตรวจ 1 ครั้ง ตลอดช่วงชีวิต และการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในประชากรกลุ่มเสี่ยง 5 กลุ่ม (ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ใช้สารเสพติดชนิดฉีด ผู้ต้องขัง บุคลากรสาธารณสุข และชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย) ปีละ 1 ครั้ง เพื่อให้ผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ บี และ ซีเรื้อรัง ได้รับการรักษาตามมาตรฐานอย่างรวดเร็ว ลดโอกาสป่วยรุนแรง ลดการเกิดโรคตับแข็งและมะเร็งตับ และลดการเสียชีวิต โดยเฉพาะโรคไวรัสตับอักเสบ ซี ที่มียารักษาให้หายขาดได้ ซึ่งประชาชนกลุ่มเป้าหมายสามารถรับบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

          โดยการบริการทั้งสองส่วน อยู่ระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขการจ่ายค่าชดเชยการจัดบริการให้กับหน่วยบริการ ได้มอบให้กรมควบคุมโรคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประสานการกำหนดระยะเวลาเตรียมการและวันที่จะเริ่มให้บริการ เพื่อให้ประชาชนทราบและเข้าถึงบริการโดยเร็วต่อไป

          นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการยุติปัญหาเอดส์ ได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพระบบการดูแลรักษาเอชไอวี ระดับประเทศ เพื่อติดตามคุณภาพการจัดบริการช่วยกระตุ้นให้โรงพยาบาลทุกแห่งพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้รับบริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐานและรวดเร็ว สามารถรับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกับการวินิจฉัย และกินยาอย่างต่อเนื่องจนสามารถกดปริมาณเชื้อไวรัสในร่างกายได้สำเร็จ นำไปสู่การใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ลดการเจ็บป่วย และลดการเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาส

          ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบ (ร่าง) แผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์ ประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2569  พร้อมแต่งตั้งประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานเอดส์จากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเร่งผลักดันให้การยุติปัญหาเอดส์ในประเทศไทยสำเร็จภายในปี 2573

************************************************ 15 มีนาคม 2566

******************************



   
   


View 1251    15/03/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ