กระทรวงสาธารณสุขไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ตอกย้ำความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ ครบรอบ 190 ปี และความร่วมมือด้านสาธารณสุข 43 ปี เยี่ยมชมสถาบันบำราศนราดูร พร้อมถอดบทเรียนการต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่ และความร่วมมือตอบโต้เหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุข สร้างโอกาสในการพัฒนาร่วมกัน ยืนยันการสานต่อความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก

          วันนี้ (14 มีนาคม 2566) ที่สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายโรเบิร์ต เอฟ.โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย พญ.โรเชล วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (CDC) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมงานฉลองครบรอบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา 190 ปี และ 43 ปี ความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยและสหรัฐฯ พร้อมถอดบทเรียนการต่อสู้กับโรคติดต่ออุบัติใหม่

          นายอนุทินกล่าวว่า ประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา มีความร่วมมือด้านสุขภาพมายาวนานถึง 43 ปี มีการแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ และข้อมูลที่หลากหลายเกี่ยวกับการป้องกันควบคุมโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ได้ทำงานร่วมกันไม่เพียงแต่พัฒนาขีดความสามารถการป้องกันควบคุมโรคในระดับประเทศ แต่ยังขยายไปยังระดับภูมิภาคและระดับโลกด้วย และเนื่องในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย- สหรัฐอเมริกา ครบรอบ 190 ปี กระทรวงสาธารณสุขไทย โดยสถาบันบำราศนราดูร จึงได้เชิญเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และคณะจากสหรัฐฯ เยี่ยมชมห้องพักผู้ป่วยที่ได้พัฒนาขึ้นเมื่อ นพ.คาร์โล เออบานนี่ แพทย์ขององค์การอนามัยโลกคนแรกที่ออกมาประกาศเตือนภัยต่อสาธารณะให้เตรียมรับมือกับโรคซาร์ส ก่อนที่จะติดเชื้อ เข้ารับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรเป็นผู้ป่วยรายแรกของไทย และเสียชีวิตในปี 2003 ทั้งนี้ เพื่อระลึกถึงความสัมพันธ์อันมีค่าต่อวงการสาธารณสุข และถอดบทเรียนในการควบคุมการติดเชื้อของประเทศไทย เช่น การรักษาผู้ป่วยรายแรกของโรคโควิด 19 และเตรียมความพร้อมสำหรับการตอบโต้โรคติดเชื้ออุบัติใหม่และอุบัติซ้ำในอนาคต รวมถึงการสานต่อความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก

          ด้าน นพ.โอภาสกล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากสหรัฐฯ เช่น การบริจาคอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล วัคซีน และเครื่องช่วยหายใจ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ไทยสามารถรับมือกับการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานร่วมกันในการต่อสู้เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพทั่วโลก ซึ่งการเยี่ยมชมครั้งนี้ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของกลไกความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda : GHSA) ที่ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นความร่วมมือและเครือข่ายสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศสมาชิกในการดำเนินการเตรียมความพร้อมและตอบโต้กับการแพร่ระบาด รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถของการทำงานตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR 2005)

 

          นายโรเบิร์ต เอฟ. โกเดคกล่าวว่า ความร่วมมือทางสาธารณสุขของทั้งสองประเทศมีมาอย่างยาวนานโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และกระทรวงสาธารณสุขของไทย ดำเนินงานป้องกันควบคุมโรคระบาดต่างๆ ร่วมกันมากกว่า 40 ปี เช่น HIV/AIDS มาลาเรีย ไข้เลือดออก ไข้ซิก้า ไข้หวัดใหญ่ และการที่ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐฯ มีสำนักงานนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดอยู่ในประเทศไทย ได้ช่วยสนับสนุนดูแลประเด็นสุขภาพต่างๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนทั้งสองประเทศ รวมถึงในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 ยังได้สนับสนุนการเฝ้าระวัง สอบสวน หาผู้สัมผัส การควบคุมโรคในพื้นที่กทม.และปริมณฑล ของประเทศไทย เป็นต้น ความสำเร็จเหล่านี้เกิดจากการทำงานร่วมกันที่โปร่งใส ทำให้ระบบสาธารณสุขไทยแข็งแกร่ง ยืดหยุ่น และฟื้นตัวได้เร็ว เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่นๆ ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะมีการเติบโตและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณสุขที่เข้มแข็ง ช่วยปกป้องสุขภาพประชาชนชาวไทย  สุขภาพอาเซียนและสุขภาพโลกต่อไป

          พญ.โรเชลกล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้มีโอกาสร่วมฉลองความสัมพันธ์ 43 ปี ความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา กับกระทรวงสาธารณสุขไทย และถือเป็นการรำลึกครบรอบ 20 ปี ของการระบาดของโรคซาร์ส ที่ นพ.คาร์โล เออบานนี่ ผู้ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกถูกส่งตัวมารักษา ที่สถาบันบำราศนราดูรแห่งนี้  นับเป็นบทเรียนสำคัญทำให้งานสาธารณสุขมีความก้าวหน้า ทั้งด้านการจัดตั้งระบบเฝ้าระวังเพื่อตรวจจับภัยคุกคามด้านสาธารณสุข การตอบสนองที่มีประสิทธิภาพเพื่อควบคุมการระบาดอย่างทันท่วงทีเกิดความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนและป้องกันตนเองได้ถูกต้อง ซึ่งแม้ว่าในภูมิภาคอาเซียนจะมีโรคติดเชื้ออุบัติใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคซาร์ส หรือโรคไข้หวัดนกหลายสายพันธุ์ และที่สำคัญคือ โรคโควิด 19 แต่จากความร่วมมือที่มีมาอย่างยาวนานของทั้งสองประเทศในการพัฒนาด้านต่างๆ เช่น การพัฒนานักระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) การพัฒนาห้องแล็บ การเฝ้าระวัง และระบบการตอบโต้ รวมไปถึงการพัฒนาศูนย์ปฏิบัติการในภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ได้ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถตอบโต้การระบาดของโรคติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และขยายไปยังประเทศต่างในภูมิภาคอาเซียนด้วย

          “ความร่วมมือในการตอบโต้เหตุฉุกเฉินทางสาธารณสุขที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ความเข้มแข็งในการร่วมมือกันระหว่างไทยและสหรัฐฯ และยังคงยืนยันที่จะทำงานและพัฒนาความมั่นคงทางสุขภาพร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้คนไทยและคนทั่วโลกมีชีวิตที่ปลอดภัยและมีสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะโรคไม่มีพรมแดน และเราไม่อาจปกป้องประเทศหนึ่งประเทศใดได้ หากไม่ปกป้องทุกๆ ประเทศไปพร้อม ๆ กัน” พญ.โรเชล กล่าว

*********************************************** 14 มีนาคม 2566

************************

 



   
   


View 1583    14/03/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ