กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลราชวิถี เผย “การได้ยินมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตในทุกช่วงวัย” แนะประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการได้ยิน หากมีความเสี่ยงหรือสงสัยว่าจะมีภาวะสูญเสียการได้ยินควรรีบพบแพทย์

 

          นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหาการสูญเสียการได้ยินถือเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในทุกช่วงวัย จากรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565) พบว่า การออกบัตรประจำตัวคนพิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย มีมากเป็นลำดับที่ 2 จำนวน 401,318 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 18.64 รองจากความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย ร้อยละ 50.81 โดยกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวนมากที่สุด จำนวน 295,541 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในทุกปี ซึ่งสอดคล้องกับประเทศไทยที่เข้าสู่ภาวะผู้สูงวัยทำให้อัตราผู้ที่มีปัญหาการได้ยินสูงมากขึ้น และส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน เช่น การได้ยิน การสื่อสาร การแยกตัวออกจากสังคม ซึมเศร้า โรคหลงลืม และสมองเสื่อม ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงมีนโยบายในการดูแลประชาชนให้มีสุขภาพดีถ้วนหน้า และสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ทุกระดับชั้น เนื่องจากปัญหาการได้ยินเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญและต้องการให้ประชาชนมีการได้ยินที่ดี

 

นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่มีปัญหาการสูญเสียการได้ยิน ในเบื้องต้นจะมีอาการหูอื้อ ไม่ได้ยินเสียง ได้ยินเสียงแต่จับใจความไม่ได้ ไม่สามารถพูดคุยในสถานที่มีเสียงรบกวน ต้องเปิดวิทยุหรือโทรทัศน์เสียงดังมากกว่าปกติ หรือฟังโทรศัพท์ไม่ได้ยิน ส่วนปัญหาการได้ยินในเด็ก คือ จะมีอาการพูดช้า ไม่พูดตามระยะของพัฒนาการ เรียกไม่หันตามเสียง ทำให้มีปัญหาการเรียนรู้ได้ ซึ่งหากมีอาการหรือพบผู้ที่มีอาการควรรีบมาพบแพทย์หู คอ จมูก เพื่อตรวจรักษาและวัดระดับการได้ยิน สำหรับปัญหาการได้ยินสามารถเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ เช่น ความผิดปกติทางพันธุกรรม การอักเสบติดเชื้อของหู การติดเชื้อเยื่อหุ้มสมอง ศีรษะได้รับการกระทบกระแทกรุนแรง ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันโดยไม่ทราบสาเหตุ การสัมผัสเสียงดังเกินระดับปลอดภัย หรือการเสื่อมสภาพตามอายุ เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี ได้จัดให้มีการดูแลการได้ยินตั้งแต่ทารกแรกเกิดโดยทำการคัดกรองการได้ยินทารกแรกเกิดในโรงพยาบาลราชวิถีทุกราย และให้การดูแลรักษาโรคหูต่างๆ อย่างครบวงจร ตั้งแต่การวินิจฉัยไปจนถึงการรักษาฟื้นฟู อีกทั้ง มีบริการตรวจวัดการได้ยินด้วยเครื่องตรวจวัดระดับการได้ยินที่เป็นมาตรฐานโดยนักตรวจการได้ยินและให้บริการใส่เครื่องช่วยฟังเมื่อมีข้อบ่งชี้

แพทย์หญิงสมจินต์ จินดาวิจักษณ์ หัวหน้ากลุ่มศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้านโสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี  กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามที่ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้วันที่ 3 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันการได้ยินโลก” (World Hearing Day 2023)” เพื่อรณรงค์กระตุ้นเตือนให้ประชาชนทั่วโลกหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจการได้ยินของตนเองเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินในทุกช่วงวัยของชีวิต โรงพยาบาลราชวิถีจึงได้จัดให้มีกิจกรรมเสวนาโดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ในหัวข้อ “เรื่องของหู ไม่ต้องรอให้มีปัญหาก็ดูแลได้” เพื่อให้ความรู้ประชาชนในหัวข้อต่างๆ ณ ห้องตรวจหู คอ จมูก ชั้น 10 อาคารทศมินทราธิราช นอกจากนี้ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกได้จัดทำแอพพลิเคชั่น ชื่อ “hearWHO” เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจระดับการได้ยินด้วยตนเอง และสำหรับประเทศไทยมีแอพพลิเคชั่นที่เป็นภาษาไทยเช่นกัน ชื่อว่า “Eartone หรือ ตรวจการได้ยิน” จึงอยากเชิญชวนประชาชนตรวจประสิทธิภาพของการได้ยินด้วยตนเอง โดยสามารถดาวน์โหลดบนโทรศัพท์มือถือทั้งระบบ ios และ Android โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป

 

****************************************

#โรงพยาบาลราชวิถี #กรมการแพทย์ #วันการได้ยินโลก

                   -ขอขอบคุณ-

       3 มีนาคม 2566



   


View 478    03/03/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ