รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุข ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 พบมีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามนโยบายทุกด้าน ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวก ทั่วถึงทั้งการพัฒนาบริการรักษาขั้นสูงด้านโรคหัวใจ หลอดเลือดสมอง มะเร็ง ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในระยะฟื้นฟู (Intermediate Care) ช่วยให้ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 75 มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น รวมทั้งนำผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างรายได้ให้กับชุมชน

         วันนี้ (3 มีนาคม 2566) ที่โรงพยาบาลพระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะผู้บริหาร ติดตามการดำเนินงานพร้อมมอบนโยบายให้เขตสุขภาพที่ 4 และ 5 โดยมี นายธรรมนูญ ศรีวรรธนะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 พร้อมด้วยบุคลากรผู้ปฏิบัติงานในเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 ให้การต้อนรับ

          นายอนุทินกล่าวว่า เขตสุขภาพมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขซึ่งการติดตามการดำเนินงานในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากช่วยให้ทราบถึงความก้าวหน้าในการพัฒนาระบบสุขภาพของพื้นที่ ยังเป็นโอกาสที่จะได้รับฟังปัญหาอุปสรรคและแนวทางแก้ไข เพื่อพัฒนางานในอนาคตให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งจากการติดตามผลการดำเนินงานของเขตสุขภาพที่ 4 และ 5 พบว่ามีการพัฒนาระบบบริการสุขภาพตามนโยบายครบทุกด้านและเกิดผลสำเร็จอย่างดี ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบบริการได้สะดวก ทั่วถึงมีการยกระดับการสร้างเสริมสุขภาพอย่างเป็นระบบ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามมาตรฐาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน

         นพ.สุรโชค กล่าวว่า จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 4 (สระบุรี นนทบุรี ลพบุรี อ่างทอง นครนายก สิงห์บุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี) ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายปีสุขภาพสูงวัยไทย โดยพัฒนาระบบดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุในระยะฟื้นฟู (Intermediate Care) มีศูนย์บริการ Intermediate Care ประจำโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปครบทุกแห่ง, หอผู้ป่วย Intermediate Care ทุกจังหวัด, จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูชุมชน “ศูนย์ร่วมสุข” ที่ รพ.สต. อย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง และร่วมกับ อบจ.จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูครบทุกจังหวัดเพื่อดูแลด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วย เช่น เป็นคลังอุปกรณ์ชุมชน ศูนย์ซ่อมอุปกรณ์ชุมชน บริการปรับสภาพบ้าน จัดอบรมอาสาสมัครฟื้นฟูชุมชน เป็นต้น ทั้งหมดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยกว่าร้อยละ 75 กลับมามีสมรรถนะทางกายดีขึ้น ช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และยังวางแผนดำเนินงานเพื่อป้องกันภาวะถดถอยในผู้สูงอายุ โดยมีการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุรวมกว่า 400,000 คน ในส่วนของจังหวัดลพบุรี ยังมีการวิจัยพัฒนายากัญชาสำหรับใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ และตั้งคลินิกกัญชาในโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงฯ 11 แห่ง และโรงพยาบาลมะเร็งลพบุรี (สังกัดกรมการแพทย์) 1 แห่ง

         ด้าน พญ.อัจฉรา กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพการบริการของเขตสุขภาพที่ 5 (เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ประจวบคีรีขันธ์ สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี) เพื่อให้ประชาชนในเขตสุขภาพกว่า 5 ล้านคน เข้าถึงการรักษาขั้นสูงมากขึ้น ว่า ได้จัดตั้งศูนย์โรคหัวใจและหลอดเลือดรวม 6 ศูนย์ ให้บริการสวนหัวใจ ผ่าตัดหัวใจได้ตลอด 24 ชั่วโมง ด้านการรักษาโรคมะเร็ง มีศูนย์ให้ยาเคมีบำบัดและผ่าตัดรักษาโรคมะเร็งในโรงพยาบาล 6 แห่งและมีศูนย์รังสีรักษาอีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลราชบุรี และโรงพยาบาลสมุทรสาคร ส่วนด้านการบริจาคและปลูกถ่ายอวัยวะ ดำเนินงานร่วมกับสภากาชาดไทย ในปี 2565 มีผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาเพิ่มขึ้น ร้อยละ 20 มีศูนย์ปลูกถ่ายกระจกตา 5 แห่ง คือ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว สมุทรสาคร โรงพยาบาลนครปฐม โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) นครปฐม โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา กาญจนบุรี และโรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช สุพรรณบุรี และมีศูนย์ปลูกถ่ายไตที่โรงพยาบาลราชบุรี นอกจากนี้ ยังเพิ่มศัยภาพภาพการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง โดยเปิดศูนย์รักษาด้วยวิธีลากลิ่มเลือดผ่านสายสวน (Thrombectomy) ที่โรงพยาบาลหัวหิน และโรงพยาบาลนครปฐม รวมถึงนำร่องการผ่าตัดผ่านกล้องแบบวันเดียวกลับที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา ด้วย

************************************************ 3 มีนาคม 2566

***********************************************

 



   
   


View 820    03/03/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ