รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอบคุณภาคีเครือข่ายองค์กรงดเหล้าที่ให้กำลังใจและสนับสนุนการขับเคลื่อนการควบคุม กำกับและรณรงค์การไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายทำให้ 15 ปีที่ผ่านมา สามารถลดจำนวนนักดื่มได้ถึง 2.3 ล้านคน พร้อมรับฟังข้อเสนอให้มีการปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

          วันนี้ (28 กุมภาพันธ์ 2566) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์ขจรศักดิ์ แก้วจำรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ได้รับมอบหมายจากนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนรับหนังสือขอบคุณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงสาธารณสุข ในการบังคับใช้พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คุ้มครองสุขภาพประชาชนและลดนักดื่มหน้าใหม่ จากตัวแทนเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง  และภาคีเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมกว่า 30 คน 

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการควบคุมกำกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เป็นกลไกที่ใช้ขับเคลื่อนการดำเนินงาน และมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคประชาชนร่วมกันรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อาทิ ปรับสโสแกนจาก “เมาไม่ขับ” เป็น ดื่มไม่ขับ ขับไม่ดื่ม” โดยมีเป้าหมายที่จะลดผลกระทบจากการดื่มสุรา ทั้งการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน การเกิดโรคที่มาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ตับแข็ง รวมถึงลดพฤติกรรมความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขจะสร้างความเข้มแข็งในการควบคุมกำกับการบริโรคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับจังหวัด โดยให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำงานร่วมกับเครือข่ายต่างๆ อย่างเข้มข้นมากขึ้น

          นายแพทย์ณรงค์กล่าวต่อว่า ต้องขอขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุขรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นเยาวชน ทำให้กว่า 15 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2551-2564 ประเทศไทยสามารถลดจำนวนนักดื่มลงได้ถึง 2.3 ล้านคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564) และในวันนี้ ยังมีข้อเสนอแนะในการปรับปรุง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 32 คือ ห้ามใช้ตราสัญลักษณ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการโฆษณาสินค้าอื่นๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไขปรับปรุงให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับหลักวิธีปฏิบัติในมาตรา 32 โดยจะมีการเพิ่มเติมสาระสำคัญ และทบทวนก่อนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามกระบวนการต่อไป

**************************************** 28 กุมภาพันธ์ 2566

 

***************************



   
   


View 963    28/02/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ