ปลัด สธ. สั่งตั้งศูนย์ EOC รับมือ "อหิวาต์" พร้อมให้การสนับสนุนทีมช่วย "เมียนมา" ควบคุมป้องกันโรค เข้มเฝ้าระวังจุดเสี่ยงในไทย
- สำนักสารนิเทศ
- 110 View
- อ่านต่อ
เขตสุขภาพที่ 1 ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย เดินหน้าพัฒนาระบบ “Sky Doctor” ให้จังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์อำนวยการปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศ ช่วยชีวิตผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินในพื้นที่ทุรกันดาร ทั้งระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิ ส่งต่อโรงพยาบาลทันเวลา ลดอาการรุนแรงและเสียชีวิต ข้อมูลปี 2561-2565 มีการส่งต่อผู้ป่วยทั้งสิ้น 204 ราย
นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญในการเตรียมความพร้อมของหน่วยปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในการจัดการกับภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ทั้งในยามปกติและเมื่อเกิดภัยพิบัติ โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล พื้นที่ทุรกันดาร เพื่อให้ผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินได้รับการรักษาพยาบาล และส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่าได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ สามารถเข้าถึงการรักษาที่ได้มาตรฐานทันเวลา ป้องกันการเสียชีวิตหรือลดความรุนแรงของอาการเจ็บป่วยฉุกเฉิน
สำหรับเขตสุขภาพที่ 1 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน มีสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เส้นทางทางโค้งลาดชัน การส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินต้องใช้เวลานาน โดยจังหวัดเชียงใหม่มีการรับส่งต่อผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินทางอากาศจำนวนมากขึ้นทั้งจากในพื้นที่และจังหวัดในเขตสุขภาพที่ 1 ซึ่งได้ริเริ่มนำระบบการลำเลียงทางอากาศมาใช้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์อำนวยการปฏิบัติการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศในเขตสุขภาพที่ 1 ดำเนินงานโดยชุดปฏิบัติการบินจาก โรงพยาบาลนครพิงค์ โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ โรงพยาบาลแม่สะเรียง หน่วยบินจากกองบินตำรวจ กองกำลังผาเมือง ฉก.สิงหนาท และภาคีเครือข่าย มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับนโยบาย แพทย์อำนวยการและคณะขับเคลื่อนในจังหวัด พร้อมประชุมขับเคลื่อนงานทุก 2 เดือน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและหาแนวทางแก้ไข พัฒนาศักยภาพบุคลากรอย่างต่อเนื่อง โดยจัดฝึกอบรมการลำเลียงผู้ป่วยทางเฮลิคอปเตอร์ขั้นพื้นฐาน (Basic Helicopter Emergency Medical Service Course : Basic HEMS) และซ้อมแผนลำเลียงผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินทางอากาศในพื้นที่ใหม่ทุกปี โดยข้อมูลการลำเลียงผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ ในเขตสุขภาพที่ 1 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2565 มีทั้งสิ้น 204 ราย ระดับทุติยภูมิ (จากโรงพยาบาลต้นทางไปยังโรงพยาบาลปลายทาง) พบส่วนใหญ่ 3 อันดับโรค ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือด, การบาดเจ็บศีรษะอย่างรุนแรง, โรคหลอดเลือดสมอง และโรคเกี่ยวกับทารก ส่วนระดับปฐมภูมิ (จากพื้นที่ต้นทางไปยังโรงพยาบาลปลายทาง) ได้แก่ โรคระบบทางเดินหายใจ ,อุบัติเหตุ และโรคระบบประสาทส่วนกลาง
สำหรับจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (ข้อมูล ณ 9 กุมภาพันธ์ 2566) มีการลำเลียงผู้ป่วยทางอากาศทั้งสิ้น 66 ราย โดยในปี 2566 ลำเลียงจำนวน 32 ราย มีการลำเลียง ใน 8 อำเภอ มากที่สุดในอำเภออมก๋อย ฝาง และเวียงแหง เป็นชุดปฏิบัติการจากโรงพยาบาลนครพิงค์ 10 ครั้ง โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 16 ครั้ง โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จังหวัดแม่ฮ่องสอน 5 ครั้ง และโรงพยาบาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดตาก 1 ครั้ง ปัจจุบันโรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ได้ผ่านการประเมินหน่วยปฏิบัติการแพทย์ระดับเฉพาะทาง (ปฏิบัติการแพทย์ฉุกเฉินด้วยอากาศยาน)
“เขตสุขภาพที่ 1 ยังคงมุ่งพัฒนาการลำเลียงผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินทางอากาศ ให้มีศักยภาพและประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานทุกด้าน เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ให้เข้าถึงบริการสุขภาพที่ทันเวลา และเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนในเขตสุขภาพที่ 1 ต่อไป” นายแพทย์พูนลาภกล่าว
***************************************** 26 กุมภาพันธ์ 2566