วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2566) ที่โรงแรมแกรนด์ริชมอนด์ จ.นนทบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานและมอบทิศทางการดำเนินงานการตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์อย่างสมเหตุผล หรือ Rational Lab Use (RLU) พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้แก่โรงพยาบาลนำร่องของประเทศ จำนวน 23 แห่ง โดยมี นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะผู้บริหารของกรม แพทย์ นักเทคนิคการแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน

   ดร.สาธิต กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายที่จะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขอย่างครอบคลุม มีคุณภาพมาตรฐาน จึงได้มอบหมายให้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยสำนักมาตรฐานห้องปฏิบัติการ ร่วมกับ    ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ สภากาชาดไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เป็นแกนเริ่มต้น ร่วมมือกับโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขในทุกภาคของประเทศ พัฒนาระบบและแนวทางการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (Lab) อย่างสมเหตุผล (Rational Laboratory Use, RLU) เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์มีแนวทางประกอบการตัดสินใจสั่งตรวจ Lab เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย รักษา ติดตามผลการรักษา และวางแผนดูแลสุขภาพ ได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และเป็นประโยชน์มากที่สุด ซึ่งนอกจากจะเกิดประโยชน์ในระดับสุขภาพของบุคคลแล้วยังส่งผลให้ระบบสุขภาพสามารถใช้ทรัพยากรทางสุขภาพในภาพรวมให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนหมู่มากได้อย่างเพียงพอ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวน 23 แห่ง ซึ่งกระจายอยู่ใน 12 เขตสุขภาพ ร่วมนำร่องเป็นต้นแบบในการพัฒนาหลักเกณฑ์ และกำหนดแนวทางการดำเนินงาน จากนั้นจะได้ขยายผล ไปใช้ในโรงพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศต่อไป เพื่อสร้างระบบสุขภาพ ที่มีความมั่นคงและยั่งยืนยิ่งขึ้น
 

      ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า จากผลการศึกษาในต่างประเทศ พบว่า การสั่งตรวจในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ประมาณร้อยละ 20 ถึง 50 อาจไม่เหมาะสม โดยมีทั้งการสั่งตรวจที่มากเกินความจำเป็น (Over use) ทำให้เกิดความสิ้นเปลือง หรือน้อยเกินไป (Under use) จนอาจนำไปสู่การวินิจฉัยและรักษาโรคที่ผิดพลาด  และจากข้อมูลการสั่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Lab) ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวนเกือบ 900 แห่งทั่วประเทศ ในแต่ละปีมีมูลค่าไม่น้อยกว่า 5,000  ล้านบาท หากนำเอา Rational Lab Use มาประยุกต์ใช้ทั้งกระทรวงสาธารณสุข อาจทำให้ลดค่าใช้จ่ายจากการสั่งตรวจ Lab เกินความจำเป็นลงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าการกำหนดแนวทางการสั่งตรวจ Lab อย่างสมเหตุผล ไม่ใช่การลดการสั่งตรวจ Lab เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย แต่เป็นสั่งตรวจ Lab ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ที่มากที่สุดต่อการดูแลสุขภาพประชาชน

   นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หลักการสำคัญของโครงการ RLU คือ การสั่งตรวจ Lab เมื่อจำเป็น ลดการสั่งตรวจ Lab ที่ไม่เป็นประโยชน์ อาทิ การสั่งตรวจ Lab บ่อยครั้งเกินจำเป็น สั่งตรวจ Lab ซ้ำเพราะไม่ได้ส่งข้อมูลระหว่างกัน (ระหว่างแผนกในโรงพยาบาล และระหว่างโรงพยาบาล) การสั่งตรวจ Lab เป็นชุดทีละหลายรายการทั้งที่บางรายการเท่านั้นที่เป็นประโยชน์ การสั่งตรวจ Lab แล้วไม่ได้ดูผล Lab อาจเพราะผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลก่อนผล Lab ออก การสั่งตรวจ Lab โดยไม่มีจุดประสงค์ที่แน่นอน เพราะไม่ได้พิจารณาความจำเป็นตามหลักวิชาการ หรือไม่ได้พิจารณาจากข้อมูลอื่นที่เกี่ยวข้องก่อน ทั้งนี้ถ้าสามารถลดการสั่งตรวจ Lab ที่ไม่เป็นประโยชน์ จะทำให้ค่าใช้จ่ายด้าน Lab โดยรวมลดลงและลดอันตรายต่อผู้ป่วย

 


      ที่ผ่านมา 23 รพ.นำร่อง ได้แก่ รพ.น่าน รพ.ลำพูน รพ.อุตรดิตถ์ รพ.แม่สอด รพ.ศรีสังวรสุโขทัย รพ.พุทธชินราชพิษณุโลก  รพ.กำแพงเพชร รพ.สระบุรี รพ.พระนั่งเกล้า รพ.มะการักษ์ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี รพ.สมุทรสาคร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร รพ.ร้อยเอ็ด รพ.สกลนคร รพ.เลย รพ.บุรีรัมย์ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.สรรพสิทธิประสงค์ รพ.วชิระภูเก็ต รพ.ชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รพ.สงขลา และรพ.หาดใหญ่ ได้มีการประยุกต์แนวทางการสั่ง Lab อย่างสมเหตุผลสู่การปฏิบัติอย่างได้ผล ในระดับหนึ่ง มีการปรับใช้ตามบริบทของโรงพยาบาล นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างโรงพยาบาล เพื่อปรับปรุงแนวทางการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งคาดว่าในอนาคตอันใกล้นี้จะทำให้ RLU สามารถเกิดขึ้นได้จริงในโรงพยาบาลต่างๆ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และภาคีเครือข่ายจะมุ่งมั่นขับเคลื่อน และเป็นพี่เลี้ยงให้กับโรงพยาบาลที่สนใจนำแนวทาง RLU ไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน

************* 8 กุมภาพันธ์ 2566



   
   


View 710    08/02/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ