วันนี้ (8 กุมภาพันธ์ 2566) ที่โรงแรมโนโวเทล ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานการสัมมนาป้องกันการจมน้ำประเทศไทย เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมีการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ ตามเป้าหมายที่กำหนดในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค  แพทย์หญิงคุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภาไทยเข้าร่วม พร้อมทั้งผู้แทนจากหน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งภาคสาธารณสุขภาคท้องถิ่น ภาคการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานภาคเอกชน นักวิชาการ และจิตอาสา ทั่วประเทศ  และผู้แทนทีมผู้ก่อการดีที่เข้ารับรางวัลจากหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งสิ้น 500 คน

          นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งในระดับโลกและประเทศไทย ในระดับโลกทางองค์การสหประชาชาติได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันการจมน้ำ จนเกิดเป็นฉันทมติร่วมกันในการป้องกันการจมน้ำเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2564  และจากรายงานจากองค์การอนามัยโลกพบว่า การจมน้ำเป็นปัญหาสาธารณสุขทั่วโลก ที่สำคัญ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 2 รองจากโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ในแต่ละปีทั่วโลกมีคนจมน้ำเสียชีวิตปีละ 372,000 คน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 146,000 คน สำหรับประเทศไทย จากข้อมูลมรณบัตรในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555 - 2564) พบผู้เสียชีวิตจากการจมน้ำ 35,915 คน โดยในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 7,374 คน หรือกล่าวได้ว่า ในทุกๆ วันเราสูญเสียคนไทยจากการจมน้ำถึงวันละ 10 คน

          สำหรับประเทศไทยได้กำหนดให้การลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำเป็นเป้าหมายหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยภายในปี 2580 ต้องลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ให้ไม่เกิน 2.5 ต่อประชากรเด็กแสนคน หรือประมาณ 290 คน ซึ่งปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตของเด็กอยู่ที่ ร้อยละ 6.3 หรือ 667 คน และลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำในทุกกลุ่มอายุ ให้ลดลงจากปี 2560 อย่างน้อยร้อยละ 50 หรือไม่เกิน 1,940 คน ซึ่งปัจจุบันในทุกกลุ่มอายุ มีคนจมน้ำเสียชีวิต 3,990 คน ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญคือ “จะทำอย่างไร ให้คนไทยเสียชีวิตจากการจมน้ำลดลงตามเป้าหมายที่กำหนด”

          นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา ประเทศไทยได้มุ่งเน้นดำเนินงานป้องกันการจมน้ำในกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี เนื่องจากเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับที่ 1 และตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ดำเนินการ นับตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปี 2564 เราสามารถลดการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กลงได้ถึงร้อยละ 55 จากการเสียชีวิตปีละ 1,500 คนในปี 2549 เหลือ 667 คนในปี 2564  อย่างไรก็ตามในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ส่งผลให้การเสียชีวิตจากการจมน้ำเพิ่มมากขึ้นในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ที่พบว่าเพิ่มขึ้นถึงเกือบร้อยละ 10

          “ซึ่งกลไกการขับเคลื่อนงานจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนร่วมกัน ตั้งแต่ระดับชุมชนจนถึงระดับนโยบาย สำหรับประเทศไทยเรามีทีมผู้ก่อการดี (MERIT MAKER) ป้องกันการจมน้ำ ซึ่งใช้เป็นกลยุทธ์หลักในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เพื่อปิดช่องว่างของการแก้ปัญหาที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้เข้าไปอยู่ในระบบได้ ส่วนในระดับนโยบายเราใช้กลไกของมติสหประชาชาติ ทั้ง 10 ประเด็น เพื่อให้มีการดำเนินมาตรการป้องกันการจมน้ำจากทุกสาเหตุในทุกมิติ” นายแพทย์อภิชาต กล่าว

          นายแพทย์ธเรศ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมอบรางวัลให้แก่ทีมผู้ก่อการดี เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้แก่เครือข่ายที่ดำเนินงานป้องกันการจมน้ำ โดยเฉพาะทีมผู้ก่อการดีระดับเพชร และระดับทองที่ได้รับโล่รางวัล จากท่านนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา) และทีมผู้ก่อการดีระดับเงิน ซึ่งเป็นโล่รางวัลจากท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) และขอเป็นกำลังใจให้แก่ทีมผู้ก่อการดีที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต เพราะพวกท่านทุกคนล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะช่วยกันพัฒนาการดำเนินงานป้องกันการจมน้ำที่จะมุ่งสู่เป้าหมายของแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และช่วยให้คนไทยมีชีวิตรอดปลอดภัย เติบโตอย่างมีคุณภาพ และเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป

 

******************************

ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566



   
   


View 927    08/02/2566   ข่าวในรั้ว สธ.    สำนักสารนิเทศ