โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี พัฒนาระบบบริการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบครบวงจร ผ่าตัดมะเร็งได้ทุกระบบ รักษาด้วยเคมีบำบัดได้ทุกโรค และพัฒนาการให้ยาเคมีบำบัดในโรงพยาบาลใกล้บ้าน โดยเน้นผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทำให้ผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกลในถิ่นทุรกันดารเข้าถึงบริการได้สะดวกและทันเวลา ส่งผลให้ได้รับรางวัลศรีสวางควัฒน ประจำปี 2565 ประเภทหน่วยงานสาธารณสุขดีเด่น ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป

      นายแพทย์มนต์ชัย วัฒนาสิทธิพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ให้สัมภาษณ์ว่า จากพระปณิธานใน ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี องค์ประธานราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ในการช่วยเหลือและบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย จึงก่อกำเนิด “รางวัลศรีสวางควัฒน” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี โดยสรรหาองค์กรสาธารณสุขดีเด่น ที่อุทิศตนในการปฏิบัติงานด้วยความเสียสละ อุตสาหะและทุ่มเท สมควรได้รับการยกย่องเชิดชู โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีวิทยาการความรู้ด้านการรักษาโรคมะเร็ง หรือด้านอื่นๆ ที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ต่อเนื่อง ยั่งยืน เป็นต้นแบบจนส่งผลดีต่อประเทศชาติและสังคม โดยโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ได้รับรางวัลศรีสวางควัฒน ประจำปี 2565 ประเภทหน่วยงานสาธารณสุขดีเด่น ระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

       นายแพทย์มนต์ชัย กล่าวต่อว่า ผลงานเด่นทางด้านมะเร็งของโรงพยาบาลฯ ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายมะเร็งรักษาได้ทุกที่ (Cancer Anywhere) ของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาในหน่วยบริการใกล้บ้าน มีเป้าหมายในการพัฒนาการดูแลผู้ป่วย โดยเน้นการคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง การวินิจฉัยที่ถูกต้อง การรักษาที่ได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยและมีคุณภาพ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยที่เน้นการบริการดูแลรักษาแบบครบวงจร โดยมีการพัฒนาการให้ยาเคมีบำบัดได้ทุกโรค ร่วมกับขยายเครือข่ายการให้ยาเคมีบำบัดไปสู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ด้านการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในผู้ใหญ่ สามารถลดอัตราการตายจากภาวะไข้จากเม็ดเลือดขาวต่ำ (Febrile neutropenia) ภายหลังรับเคมีบำบัดได้ไม่เกินร้อยละ 5  พัฒนาศักยภาพการปลูกถ่ายไขกระดูกทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Hematopoietic stem cell transplantation) โดยใช้เซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดของตนเอง ปัจจุบันให้บริการปลูกถ่ายไขกระดูกแล้วจำนวน 46 ราย นอกจากนี้ ยังพัฒนาการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในโรคโลหิตจางธัลลัสซีเมียได้ ส่วนด้านการผ่าตัดมะเร็งท่อน้ำดี ระหว่างปี พ.ศ. 2556 - 2561 ให้การผ่าตัดผู้ป่วยจำนวน 736 ราย มีผู้ป่วยหลังผ่าตัดที่ไม่พบเซลล์มะเร็งหลงเหลือ (RO Resection) ถึง 311 ราย ทำให้มีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

      นอกจากด้านการรักษาโรคมะเร็ง โรงพยาบาลฯ ยังได้พัฒนาการรักษาด้านโรคหัวใจอย่างต่อเนื่อง ให้การวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบ (Aortic Stenosis) และประสานความร่วมมือระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่งผู้ป่วยไปทำหัตถการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเอออร์ติกเทียมผ่านทางสายสวนโดยไม่ต้องผ่าตัด (TAVI) จำนวน 31 ราย ทำให้ผู้ป่วยในส่วนภูมิภาคมีโอภาสเข้าถึงการรักษาขั้นสูงได้อย่างเท่าเทียม

****************************** กุมภาพันธ์ 2566

 

****************************

 



   
   


View 928    05/02/2566   ข่าวเพื่อมวลชน    สำนักสารนิเทศ